นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทาง สศอ. ตระหนักถึงความตื่นตัวในกระแสโลกที่เกิดขึ้นกับเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความรุนแรงของปัญหามีมากขึ้นทุกขณะ ยกตัวอย่างเช่นผลกระทบทางตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ ผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการถูกส่งคืนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ สร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง จากกระแสของ Food Safety ที่ยังคงร้อนแรง และมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการจัดทำนิทรรศการ สัมมนาระหว่างประเทศ หรือระดับโลกอย่างมากมาย โครงการสร้างความเชื่อมั่นอาหารไทยปลอดภัยมีคุณภาพ ในช่วงที่ผ่านมา จึงเห็นเป็นการตอบสนองกระแส “อาหารปลอดภัย” ที่มีความตื่นตัวกันอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะครัวผลิตอาหารไทยสำหรับคนหมู่มาก ที่จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น
นายอุดมฯ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ สศอ.ได้ผลักดันโครงการสร้างความเชื่อมั่นอาหารไทยปลอดภัยมีคุณภาพ ( Eat Safe Eat Smart) ซึ่งได้ผลตอบรับจากหน่วยงานราชการ องค์กรภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างดี โดยในปี 2556 สศอ.ได้เริ่มผลักดันโครงการสร้างความเชื่อมั่นอาหารไทยปลอดภัยมีคุณภาพขึ้นเป็นครั้งแรก และเนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ในสังคมวงกว้างซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ จึงได้มีการขยายเวลาดำเนินการต่อเนื่องไปถึงปี 2557เพื่อพัฒนาครัวผลิตอาหาร และผู้ให้บริการอาหารในประเทศให้ได้มาตรฐานสุขลักษณะที่ดีของครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มาก (GMP in Mass Catering Requirements)
นายอุดมฯเปิดเผยว่า วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการนี้คือการพัฒนาและควบคุมการผลิตให้มีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเตรียม การแปรรูป การจัดส่ง และการให้บริการอาหาร โดยมุ่งหวังพัฒนา “ครัว”ผลิตอาหาร และผู้ให้บริการร้านอาหารสำหรับคนหมู่มากในประเทศตามมาตรฐาน GMP นอกจากนั้นยังรวมถึงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและตรวจประเมินผลสำหรับงานด้านนี้ และข้อสำคัญอย่างยิ่งคือ เป็นการกระตุ้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ตื่นตัวและเห็นคุณค่าของการผลิตและการให้บริการอาหารสำหรับคนหมู่มากที่ได้เทียบเท่าได้ในระดับสากล
โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือ ครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มากทั่วประเทศ เช่นโรงครัวของโรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลคนชรา เป็นต้น และเมื่อสิ้นสุดโครงการในปี 2557 ที่ผ่านมา สำหรับผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่มีส่วนอย่างยิ่งต่อการยกระดับมาตรฐาน Food Safety ของอุตสาหกรรมอาหารนั้นประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญต่างๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมา มีกิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิคแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสามารถผ่านการ
รับรองมาตรฐาน GMP in Mass Catering รวม 79 แห่ง และกิจกรรมการอบรมบุคลากร ด้านให้คำปรึกษา และตรวจประเมิน ซึ่งสามารถพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐาน GMP in Mass Catering รวม 75 ราย โดยคาดว่าสถานประกอบการและผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการ ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาธุรกิจอาหารไทย และผู้ปรุงอาหารไทยที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผลที่เกิดขึ้นของโครงการนี้คือ ผู้ให้บริการอาหารภายในประเทศ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนนำความรู้และเกณฑ์มาตรฐานไปใช้ในการปฏิบัติจริง นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการผลิตและให้บริการอาหารในระดับสากลทุกภาคส่วนได้รับการกระตุ้นให้เห็นคุณค่าของการผลิตและให้บริการอาหารสำหรับคนหมู่มาก ขณะที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารจากครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มากในประเทศ ข้อสำคัญคือ ภาครัฐมีแนวทางการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานให้แก่ครัวเรือนผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มากในระยะยาวอย่างยั่งยืน
นายอุดมฯ กล่าวสรุปว่า ความสำเร็จแห่งโครงการสร้างความเชื่อมั่นอาหารไทยปลอดภัยมีคุณภาพ Eat Safe Eat Smart นี้แม้ว่าจะไม่สามารถคำนวณออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ว่าช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ และมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโต ร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า การเติบโตนี้มาจากปัจจัยสำคัญต่างๆ รวมถึง GMP in Mass Catering ที่ สศอ. เป็นผู้ริเริ่มขึ้นมา และความสำเร็จของโครงการนี้ ยังเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะเข้าไปรองรับกระแส Food Safety ที่กำลังตื่นตัวอย่างเต็มที่ทั่วโลกในขณะนี้ และแน่นอนว่า ย่อมเป็นการกระตุ้นครั้งสำคัญที่ทำให้ความสนใจในกระบวนการ Food Safety ในระดับอาเซียนได้รับอานิสงส์ไปด้วย