นางสุวิภา วรรณสาธพ นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย กล่าวว่า สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai Business Incubations & Science Parks Association, Thai - BISPA) ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศ ในการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศและระดับสากล อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองการจัดตั้งสมาคมฯ ครบรอบ 6 ปี พร้อมเผยแพร่ผลงานดีเด่นในด้านสินค้าและบริการผ่านกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการแสดงผลงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ และอุทยานวิทยาศาสตร์
นางสุวิภา กล่าวอีกว่า เราได้จัดงานภายใต้นิยามของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับคำนิยาม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy” การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อการผลิตสินค้าให้มีความแตกต่างจากเดิมที่มีอยู่ โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สูงขึ้น ในงาน Thai-BISPA Day 2015 ภายใต้หัวข้อ “วิถีสร้างสรรค์ไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม (Culture and Innovation: From Creative Ideas to Better Ways of Life) เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ พร้อมเผยแพร่ผลงานที่โดดเด่น อาทิ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องทองลงหิน โดยบริษัท บรอนซ์คราฟ จำกัด เป็นอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน ส้อม ช้อนกาแฟ ตะเกียบ ทัพพี และของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ ที่คั่นหนังสือ และกำไรข้อมือ เป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยภูมิปัญญาของคนไทย เป็นต้น
Thai – BISPA Day เราได้จัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 6 เป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่สมาคมครบรอบ 6 ปี ซึ่งในปีนี้ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อ Design, Branding, Marketing ทำอย่างไรให้ดี เด่น โดน! โดยวิทยากรนักพัฒนาผลิตภัณฑ์มืออาชีพของไทย และอีกหนึ่งหัวข้อกับการ พิชิตฝัน สรรค์สร้างนวัตกรรมบนเส้นทางสู่ความสำเร็จ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศไต้หวัน จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “มิติใหม่รากฐานภูมิปัญญาไทย ก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อเป็นเส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเชิงนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในอนาคต พร้อมจัดให้มีการแดสงสินค้าและบริการจากกลุ่มสมาชิกกว่า 40 บูธกิจกรรม หวังกระตุ้นให้เกิดการนำสินค้าและบริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมออกสู่ตลาดมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยออกสู่สายตาของผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้สูงขึ้นในอนาคต นางสุวิภา กล่าวสรุป