สุภิญญา หวั่น! แก้ พรบ. กสทช. การเมืองแทรกแซงความเป็นอิสระกสทช.

พฤหัส ๑๙ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๘:๒๔
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดทำข้อเสนอแนะและความเห็นในขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ส่งถึงประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 นายมีชัย ฤชุพันธ์ ใน 4 ประเด็นสำคัญได้แก่ ความเป็นอิสระของ กสทช. การจัดสรรคลื่นความถี่ การจัดส่งเงินค่าประมูลเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ และกองทุน กสทช.

ในเอกสารข้อเสนอแนะและความเห็น นางสาวสุภิญญา ได้กล่าวถึง เจตนารมณ์การจัดตั้ง กสทช.คือ องค์กรที่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการ รวมทั้งการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่หน่วยงานภาครัฐถือครองเพื่อนำมาปรับปรุงและจัดสรรอย่างเป็นธรรมในระบบใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ จึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดให้ กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระซึ่งในร่างการแก้ไขปรับปรุงในปัจจุบัน มีประเด็นที่แย้งหรือขัดต่อเจตนารมณ์ข้างต้น หากดำเนินการในลักษณะที่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีองค์ประกอบกรรมการส่วนใหญ่มาจากรัฐมนตรีประจำกระทรวง เป็นแนวทางที่จะทำให้ภาคการเมืองเข้ากำกับทิศทางและการดำเนินงานของ กสทช. โดยตรง และเอื้อให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กสทช. ได้โดยง่าย

ทั้งนี้ พรบ. ฉบับเดิมได้กำหนดหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงและใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ส่วนประเภทบริการสาธารณะและประเภททางธุรกิจนั้นมิได้กำหนดสัดส่วนในแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการอนุญาตควรต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและการใช้คลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในร่างฉบับใหม่ได้กำหนดหลักประกันเพิ่มเติมว่าต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่บริการสาธารณะอย่างเพียงพอ กลับขึ้นอยู่กับความประสงค์ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อการจัดสรรคลื่นอย่างเป็นธรรมได้ยาก และอาจกลับไปสู่สภาพการถือครองคลื่นความถี่โดยหน่วยงานภาครัฐเช่นเดิม รวมทั้งข้อกังวลการให้บริการสาธารณะจากหน่วยงานรัฐทำให้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินและภาษีประชาชนในการเข้ามาประกอบกิจการ และหากหารายได้จากการโฆษณาได้จะมีขอบเขตอย่างไร

ส่วนการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ได้กำหนดระยะเวลาในการปรับตัวไว้ ทั้งหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นต่างรับรู้แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่นับตั้งแต่ที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้ หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่จึงมีโอกาสถือครองคลื่นและประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ตลอดระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 15 ปี จึงไม่มีเหตุผล ที่จะต้องนำเงินของรัฐไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับหน่วยงานของรัฐเอง

การกำหนดให้ กสทช.ต้องจัดส่งเงินค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่จากการประมูลให้กับกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น หากกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ประสงค์จะใช้จ่ายเงินตามนโยบายของหน่วยงานย่อมควรต้องดำเนินการตามขั้นตอนงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้ง กรณีที่กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดความจำเป็นของเงินรายได้ในกองทุน กสทช. รวมทั้งสามารถขอให้นำส่วนที่เกินจำเป็นส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินด้วยนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ เนื่องจากเงินรายได้ที่ กสทช. ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้จากการคืนคลื่นความถี่นั้น รายได้ที่จะเกิดขึ้นและอาจมีจำนวนมากย่อมมาจากการประมูล ในประเภททางธุรกิจ และภายใต้ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๘๐/๒๕๕๗ ตลอดจนร่างกฎหมายที่มีการปรับปรุงนี้ได้กำหนดให้ กสทช. ต้องนำเงินรายได้จากการประมูลดังกล่าวนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินอยู่แล้ว รายได้ในกรณีดังกล่าวหากมาจากค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้กับประเภทบริการสาธารณะหรือประเภทบริการชุมชน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 นั้น จะมีสัดส่วนไม่มากหรือสูงเทียบเท่ากับค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในประเภททางธุรกิจที่ได้รับจากวิธีการประมูล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO