เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 2 มี 11 มหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วประเทศเข้าร่วมได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งนักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์และคณะนิเทศศิลป์ จำนวน 14 คณะ เข้าร่วมเรียนรู้ โดยมีมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สนับสนุนการขับเคลื่อนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์-นิเทศศิลป์ ร่วมกับภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานจากพื้นที่จริง มหาวิทยาลัยนำกระบวนการเข้าสู่ห้องเรียนและสามารถปรับการเรียน เปลี่ยนการสอนได้จริง สู่มหาวิทยาลัยรับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า “โครงการปีนี้เป็นปีที่สอง หลักการทำอย่างไรให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสามารถจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดในสังคมได้ ทางหนึ่งก็คือว่าทางภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมให้โจทย์ในบ้านเราในพื้นที่ต่างๆ เกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้น พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ใช้ความรู้ที่มีคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องเริ่มคิด เครือข่ายมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ คณบดีทุกท่านเห็นร่วมกันว่าต้องเปลี่ยนการเรียนการสอน นี่เป็นก้าวสำคัญของคณะของอาจารย์ ที่จะลองทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคม หรือปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนขึ้นมา น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการน่าจะภูมิใจเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ที่จะทำให้การเรียนการสอนคณะของเราสามารถที่จะไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ปีสองเข้มข้นขึ้น มีคณะต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมคิดร่วมกันขับเคลื่อนได้ชัดขึ้น จะเห็นว่าปีนี้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มเอากิจกรรมแบบนี้ไปร้อยหรือไปหนุนการเรียนการสอนในคณะของตัวเอง และมีวิธีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน ตรงนี้น่าสนใจที่เราจบกระบวนการแล้วเราน่าจะได้มาดูกันว่าเราจะได้เห็น “นวัตกรรมการปรับการเรียนการสอน”ออกมาที่หลากหลายอย่างไรบ้าง เป้าหมายคือแต่ละคณะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนได้จริง กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ องค์กรต่างๆ ช่วยกันทำงานมีมากมาย ไม่ว่าที่ประชุมคณบดีด้านศิลปะ มสช.ที่เชื่อมภาคประชาสังคมเข้ามามีหลายมูลนิธิ หลายองค์กรและมี สสส.เข้ามาร่วมมูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุนการทำงานครั้งนี้ จะเห็นว่าพวกเราต้องการที่จะเข้ามาหนุนกิจกรรมในมหาวิทยาลัยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยรับใช้สังคม ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่จะเชื่อมวิชาการ นักศึกษา มหาวิทยาลัย คณาจารย์กลับไปสู่สังคมได้ เราก็หวังว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้มันจะไม่ใช่แค่กิจกรรมที่จะมาเวิร์คช้อปเจอกันเท่านั้น แต่จะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคน ขององค์กร และก็นำไปสู่การร่วมมือกันที่จะทำงานในทิศทางที่เกิดประโยชน์กับมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา และสังคมโดยรวมได้จริง”
สำหรับประเด็นทางสังคมที่เป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้แก่ ประเด็นด้านทรัพยากร - สิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน แรงงาน-กลุ่มชาติพันธ์ คนพิการ เด็ก เยาวชน และ เกษตรกรรม โดยมีภาคประชาสังคมเป็นผู้ให้ข้อมูล อาทิ มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สหกรณ์กรีนเนท เป็นต้น ที่ผ่านมานักศึกษาได้ร่วมเวิร์คช้อปพัฒนางานไปแล้ว 2 ครั้ง และ ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล อาทิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อชาวบ้านต่อการตั้ง โรงไฟฟ้าที่กระบี่ ส่วน คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ติดตามเรื่องท่าเรือน้ำลึก ปากบารา สตูล เป็นต้น จะมีเวิร์คช้อปครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 เมษายน 2558 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การรวมพลังครั้งนี้ของ 11 มหาวิทยาลัย จะได้เห็นผลงานของนักศึกษาที่หลากหลายและน่าสนใจเพียงไร และจะสะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างแท้จริงหรือไม่ สนใจติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com