เทคนิคแก้ปัญหา เด็กดื้อ เด็กซน

จันทร์ ๒๓ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๐๓
งานเลี้ยงลูกนับเป็นงานที่พ่อแม่จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งพ่อแม่เกิดอาการท้อเวลาที่ลูกซน ดื้อ จนไม่สามารถควบคุมได้ สร้างความลำบาก เหนื่อยทั้งกายและใจ พ่อแม่หลายคนใช้วิธีการตี ดุด่า จนบางครั้งอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวหรือมีนิสัยชอบใช้ความรุนแรงเมื่อโตขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วอาการซนหรือดื้อของเด็กอาจเกิดจากปัญหาบางอย่างที่ซ่อนอยู่ เช่น โรคทางกายบางชนิดหรือปัญหาด้านสุขภาพ มารดาดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ในช่วงตั้งครรภ์ เด็กอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ในช่วงเล็กๆ การอบรมเลี้ยงดูที่ขาดวินัย เด็กมีปัญหาการเรียนรู้ มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อและ/หรือบกพร่องในการประมวลผ่านระบบประสาทสัมผัส โรคซนสมาธิสั้น

พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายถึงลักษณะของเด็กซนกับเด็กดื้อว่า เด็กซน คือ อาการที่เด็กเล็กๆ ไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวหรือหยิบฉวยสิ่งต่างๆ มาเล่นอยู่ตลอดเวลา วิ่งหรือเดินไปมา อาจรวมถึงช่างพูด พูดตลอดเวลา เด็กบางคนอาจมีอาการหุนหันพลันแล่นร่วมด้วย คือ ใจร้อนหรือรอคอยไม่ได้ ส่วนเด็กดื้อ หมายถึง เด็กที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามกฎกติกาหรือวินัยที่ทำข้อตกลงกันเอาไว้แล้ว ความหมายของเด็กดื้อกับเด็กซนจึงไม่เหมือนกัน แต่อาจมาพร้อมกัน ถ้าเราไม่แน่ใจว่าลูกเราซน หรือดื้อหรือเปล่า ก็ควรกลับมาทบทวนว่าเราได้ตั้งกฎกติกาในครอบครัวไหม ซึ่งกฎกติกาก็ต้องเหมาะสม ต้องเซตเวลากิน เวลานอน และการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆให้เป็นระบบ แต่ความจริงแล้วเราควรเซตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ และเมื่อเขาโตขึ้นก็ให้เขาได้ร่วมคิดตัดสินใจว่าจะกำหนดตารางกิจวัตรประจำวันของตัวเองว่าเวลาไหนจะทำอะไร โอกาสที่เขาจะดื้อก็จะน้อยลง นั่นคือ การเพิ่มวินัยในครอบครัว เพราะบางบ้านที่ไม่มีวินัย เด็กก็ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหา (ดื้อ ซน) ทั้งนี้ ในบางช่วงของพัฒนาการ เด็กจะทดสอบและท้าทายผู้ใหญ่เพื่อดูว่า อะไรที่เขาทำได้หรือไม่ได้ หากผู้ใหญ่รับมือแบบผิดๆ เขาก็จะทำแบบนั้นต่อไป ดื้อดึง บางคนก็ดื้อกับพ่อแม่ที่บ้านไม่พอ ก็พาลออกมาดื้อนอกบ้าน ท้าทายกับครูและผู้ใหญ่คนอื่น หนักเข้าก็จะมีปัญหาการเข้าสังคม

กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กซนมีได้หลายสาเหตุ

1. ช่วงตั้งครรภ์ พบว่า เด็กที่มารดาสูบบุหรี่และ/หรือดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงตั้งครรภ์ รวมทั้งเด็กเล็กที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสแสดงปัญหาซน ดื้อ สมาธิสั้นได้มากกว่าเด็กที่มารดาไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ได้อยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่

2. วัยเด็กเล็ก มีหลักฐานยืนยันว่าหากเด็กจ้องมองหรือดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เล็กๆ (ก่อน 2 ขวบ) หรือเล่นเกิน 1 ชั่วโมง (อายุ 2 – 5 ขวบ) หรือ 2 ชั่วโมง (อายุมากกว่า 5 ขวบ) มีโอกาสเกิดปัญหาซน ดื้อและสมาธิสั้นได้

3. พัฒนาการตามวัย เด็กเล็กกระหายที่จะเรียนรู้ตามวัย ตามธรรมชาติ เช่น เด็กบางคนพอเริ่มคลานก็จะซนแล้ว จริงๆ คิดว่าเขาอยากจะฝึกทักษะทางร่างกายที่เขาได้พัฒนาขึ้นมา ถ้าเขาเริ่มยืน เดินได้ เขาก็จะเริ่มซนในเรื่องเดิน มันก็สนุกและท้าทายที่เขาเริ่มทำได้ แล้วก็อาจจะเริ่มไปค้น ไปคุ้ย ไปรื้อ เพราะเมื่อก่อนอาจจะได้แต่นั่งนิ่งๆ เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร ไปเองก็ไม่ได้ จับก็ไม่ได้ จะให้คนอื่นพาไปก็ยังสื่อสารไม่รู้เรื่อง พอเดินได้ก็อยากไปดู แต่จริงๆ มันก็ตรงกับวัยที่เขาจะต้องสำรวจโลก แล้วก็ลงมือทำ โดยจะเริ่มในช่วง 1 ขวบกว่าๆ พอเริ่มเก่งขึ้นก็อาจจะเริ่มเล่นสมมุติ เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น

4. ปัญหากล้ามเนื้อ จากการอุ้มผิดท่า ท่านอนหรือนั่งที่ไม่เหมาะสม หรือเท้าแบนเกินไป ขาดการเคลื่อนไหวหรือออกแรงที่เหมาะสม ทำให้เด็กทรงท่าให้อยู่นิ่งไม่ได้ นั่ง หรือยืนนานๆ ไม่ได้ ต้องยุกยิกหรือขยับตัวตลอด แบบนี้เขาเรียกว่าซนแบบมีปัญหา ควบคุมร่างกายตัวเองให้นิ่งเพื่อที่จะทำกิจกรรมไม่ได้

5. ปัญหาการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัส ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่งหรือสมาธิสั้นได้ ซึ่งต้องได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ

6. ปัญหาการเลี้ยงดู ที่ขาดวินัย และความสม่ำเสมอ

7. ปัญหาสุขภาพของเด็ก เช่น นอนกรน นอนน้อย เป็นโรคบางชนิด หรือกินยาบางชนิด

8. เป็นโรคซน สมาธิสั้น

พญ.นลินี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในช่วงวัยที่เด็กจะเริ่มซน ดื้อ หรือเกิดความท้าทายนั้น บางคนก็เริ่มที่ 2 ขวบ หรือบางคนก็เริ่มตั้งแต่ 1 ขวบครึ่ง เพราะเขากำลังเข้าสู่วัยเป็นตัวของตัวเอง ก็เน้นไปว่าอย่าไปใช้คำสั่งเพียงคำสั่งเดียว อย่าไปพูดปุ๊บแล้วให้ทำทันที ควรจะให้เวลาลูกได้เตรียมตัว เตรียมใจก่อน นับ 1-10 หรือ 1-20 หากเราทำแบบนี้แล้ว แต่เด็กบางคนมีปัญหาพัฒนาการ ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องรักษาในเชิงการแพทย์ เพราะฉะนั้นบางทีเด็กซนก็อาจจะมาพร้อมกับความดื้อ แต่เขาก็ไม่ได้ตั้งใจดื้อ แต่หากลูกคนไหนเป็นแบบนั้น เราก็ต้องมาดูแล้วว่าเกิดจากเรื่องนี้หรือเปล่า

หากเด็กซน ดื้อ ไม่เชื่อฟัง พ่อแม่ควรมีวิธีการจัดการ หรือรับมือดังนี้

1. หากเขาเล่นอยู่ และพ่อแม่ต้องการให้ลูกหยุดเล่นเพื่อไปทำอย่างอื่น ให้พูดคุยกับเขาโดยให้เขาเลือกว่าจะเล่นต่ออีก 10 หรือ 15 นาที พอหมดเวลาก็เดินเข้าไปบอกเขาว่าหมดเวลาแล้วและอาจนับ 1-10 ระหว่างรอให้เขาเก็บของเล่น

2. พ่อแม่ควรต้องตามติด ไม่ใช่ว่าเราพูดแล้วก็ปล่อย เพราะเด็กบางคนเขาก็จับทางได้ดีว่าแม่คงพูด ไปอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวแม่ก็ปล่อย เข้าทำนอง NATO - No Action Talk Only อย่างเดียว ต้องตามติดเพื่อกำกับว่าลูกทำตามกฎกติกา หรือข้อตกลงหรือไม่

3. ระบุขอบเขตว่าตรงไหนที่เราอนุญาตให้ทำ พื้นที่ไหนหรือกิจกรรมใดที่อนุญาตให้เล่นได้ ซึ่งในเด็กเล็กก่อน 6 ขวบก็ควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอด แม้ว่าเขากำลังเล่นอยู่ในที่ที่ปลอดภัย และเราไม่ควรห้ามเด็กทุกเรื่องทุกเวลา แต่ควรห้ามเมื่อเขาเริ่มจะทำอะไรที่อาจเป็นอันตราย

4. ควรให้ความสำคัญกับหน้าที่ของเด็ก เช่น เขามีหน้าที่ ที่ต้องอาบน้ำแปรงฟัน ถ้าเขายังเล็ก ผู้ใหญ่ก็ต้องช่วย ถ้าเขาดื้อดึงต่อต้าน เราก็ต้องหลอกล่อ ถ้าหลอกล่อไม่ได้ก็ต้องฝืนใจเขาหน่อย หรือเด็กโตขึ้นหน่อย ก็มีหน้าที่ไปเรียน หรือช่วยทำงานบ้านนิดหน่อย นอกจากนี้ แนะนำให้พ่อแม่เลือกเอาจริงเป็นบางเรื่อง และเฉพาะเรื่องที่จำเป็น อย่าเปิดแนวรบกับลูกทุกเรื่อง หรือเอาจริงกับทุกเรื่อง เพื่อลดโอกาสที่เขาจะต่อต้านและไม่เชื่อฟัง บางครั้งที่เด็กมีการต่อรองนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เชื่อฟัง แต่เขากำลังต่อรอง ซึ่งพ่อแม่ควรให้ลูกได้ต่อรองแต่ไม่ต่อต้าน

“ผู้ใหญ่ควรฟังเด็กให้มากขึ้น ไม่ได้ให้ตามใจเด็ก แต่ให้รับฟังเขา พอเขาต่อรองอะไรมา ถ้าทำได้เราก็ต่อรองกลับ ถ้าทำไม่ได้เราก็รับฟังแต่ไม่ได้ตามใจ อยากให้พ่อแม่ยุคใหม่เข้าใจเรื่องของการต่อรองกับลูก พูดคุยกัน เราไม่จำเป็นต้องไปสั่งเด็กทั้งหมด การฝึกให้ลูกต่อรองกับเราให้เป็น เขาก็จะมีทักษะเวลาเขาโตขึ้นแล้วไปเจออะไรที่ไม่เข้าที เขาก็สามารถต่อรองได้ เอาตัวรอดได้ ถ้าไม่เคยฝึกใครจะทำได้ นอกจากนี้พ่อแม่เวลาเลี้ยงลูกให้ลองดูว่าเราทำได้เหมาะสมหรือยัง แล้วลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมไหม ถ้าไม่เหมาะสม ไม่อยากให้พ่อแม่ใช้คำว่า เดี๋ยวโตขึ้นก็ดีเอง แต่อยากให้ทำปัจจุบันให้ดีก่อน บางคนมีปัญหากล้ามเนื้อเรื้อรังมานานก็มี ซน ไม่นิ่ง ซึ่งบางคนอาจจะเป็นมาตั้งแต่เล็ก”

สำหรับการแก้ไข หรือ รักษาอาการซน หรือ ดื้อ นั้น พญ.นลินี บอกว่า การบำบัดมีหลายแบบ ซึ่งส่วนใหญ่หมอก็จะดูตามขั้นตอนว่าตอนนี้ต้องทำอะไรบ้าง อย่างเด็กบางคนหมอก็จะเริ่มต้นที่ร่างกายก่อน ในขณะที่แก้เด็ก หมอก็จะคุยกับพ่อแม่ด้วย พยายามคุยให้พ่อแม่เข้าใจลูก และรู้วิธีที่จะรับมือที่ถูกต้องและเหมาะสม ถ้าดูเหมือนพ่อแม่จะมีปัญหาไม่ง่ายนัก อาจจะเลยตัวเขาเอง มีอะไรบางอย่าง เราก็จะส่งเขาไปหานักจิตวิทยา หรือบางคนอาจจะต้องเจอจิตแพทย์ แต่ถ้าในกรณีของซนผิดปกติ บางคนต้องรักษา เด็กบางคนก็อาจจะมีภาวะบางอย่างในตัวเขา เช่น อาจจะมีปัญหาพัฒนาการด้านภาษา ไม่เข้าใจเรื่องภาษา ปัญหาการรอคอยและ ควบคุมตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องรักษาก่อน แนะนำให้ปรึกษา เพราะเด็กบางคนก็จำเป็นที่ต้องได้รับการฝึกฝน ได้รับการรักษา อย่ามองว่าการพาไปหาหมอลูกต้องผิดปกติ ให้มองว่าเราพาลูกมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยประเมินและแก้ปัญหาให้ลูก

สำหรับผู้ปกครองหรือพ่อแม่ ที่ต้องการหาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาให้ลูกในช่วงวัยต่างๆ สามารถสืบค้นหรืออ่านบทความต่างๆ จากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลมนารมย์ www.manarom.com หรือเข้าร่วมฟังการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ แก้ (ปัญหา) เด็กซน ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558 เวลา 8.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์ สุขุมวิท 70/3 บางนา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำรองที่นั่งได้ที่เบอร์ 02-725-9595 หรือสำรองที่นั่งออนไลน์ได้ที่ http://www.manarom.com/siminar2015/register.php?course=af-2015-02

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม