นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สวรส. กล่าวว่า การรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายของ สวรส. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศนั้น นับเป็นการพัฒนาการวิจัยระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมบนเป้าหมายของการตอบสนองความต้องการและปัญหาสุขภาพในอนาคตอย่างรอบด้านมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โลกที่เปรียบได้กับคลื่นยักษ์สึนามิ 3 ลูกใหญ่ ที่เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพโลก คือ 1) คลื่นโลกาภิวัตน์ ที่มาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายของผู้คน เงินทุน การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อทุกเรื่องในสังคม 2) คลื่นของการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการรักษาได้ด้วยตนเองมากขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3) คลื่นของการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เกิดภาระการดูแลในระยะยาว ทั้งนี้คลื่นยักษ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อทั้งระบบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม หรือแม้แต่การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ สวรส. จึงจำเป็นต้องสร้างและจัดการความรู้เพื่อรับมือและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนไทยทุกคน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะทำงานทบทวนแผนยุทธศาสตร์ สวรส. กล่าวว่า ร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ได้มีปรับแก้มาเป็นระยะจากการรับฟังความคิดเห็นในหลายเวทีจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความตั้งใจที่จะช่วยกันพัฒนาให้เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ การร่างยุทธศาสตร์นี้ได้มีการทบทวนข้อมูลและองค์ความรู้ในหลายมิติ อาทิ สถานการณ์และปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ ผลงานที่ผ่านมา ช่องว่างความรู้และการพัฒนา ประเด็นความท้าทาย การวิเคราะห์จุดแข็ง - จุดอ่อนของ สวรส. เป็นต้น
“สถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากร รูปแบบการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น นโยบายด้านสุขภาพ นโยบายด้านการวิจัยของชาติ ทั้งหมดล้วนเป็นความท้าทายและปัจจัยพิจารณาให้ สวรส. ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาการดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การสร้างและจัดการงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพ การเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการวิจัยระบบสุขภาพในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ฯลฯ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนำมาสู่การร่างแผนยุทธศาสตร์ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเน้นพันธกิจด้านการ “บริหารงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการสร้างและจัดการความรู้สนับสนุนการพัฒนาและปฏิรูประบบสุขภาพ” ด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ 1) การพัฒนางานวิจัยระบบสุขภาพ 2) การพัฒนาศักยภาพเชิงสถาบันในการวิจัยระบบสุขภาพ 3) การพัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ 4) การบริหารและพัฒนาองค์กรโดยยึดหลักธรรมาภิบาล โดยทุกความเห็นจากเวทีในวันนี้คณะทำงานฯ จะนำไปประกอบการพัฒนายุทธศาสตร์ให้สามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์กับระบบสุขภาพในอนาคตมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคีผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง คณะทำงานฯจะได้มีการนำข้อมูลไปใช้ประกอบการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ สวรส. ให้คณะกรรมการ สวรส. ได้พิจารณาต่อไป