ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับที่ 5 ของโลก โดยในปี2558 จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจอินเดียจะพลิกกลับมาเป็นบวก ประกอบกับการขาดดุลทางการคลังลดลงทำให้สามารถกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจได้สูงขึ้น
ทางด้านปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ยังคงเป็นประเด็นของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโร จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างแรงกดดันต่อการผันผวนของภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลกทั้งในตลาดทุนและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น นักลงทุนต้องติดภาวะการลงทุนอย่างใกล้ชิด พร้อมกับมีการกระจายความเสี่ยงการลงทุน
สำหรับทิศทางการขยายตัวของเศษฐกิจไทย ยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก จากการหดตัวของการส่งออก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจยังคงพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการในสัดส่วนที่สูงถึง 60 % ต่อจีดีพี ขณะที่การบริโภคภายในประเทศหดตัว และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ แม้ว่าจะได้รับการชดเชยจากรายได้การส่งออกในประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งขยายตัวดีขึ้น โดยล่าสุดปี 2557 การส่งออกไทยไปลาวและพม่าเติบโตที่ระดับ 15 % และ10% ตามลำดับ ประกอบมีรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2558 เติบโตสูงขึ้น 15% จากระยะเดียวกันปีก่อนก็ตาม
ด้านนายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นยังคงเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดที่ 12.8% ของการลงทุนทั้งหมดในไทย ขณะที่การลงทุนในตลาดเงิน (Money Market?Fund) และตลาดตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4-5% และ3.7% ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ ในปี 2558 ประเมินว่าตลาดตราสารหนี้ผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2 % เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรคำนึงถึงคือการเข้าใจวัตถุประสงค์การลงทุนของตัวเอง ตลอดจนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก่อนตัดสินใจในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศมีความผันผวนสูง ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือนักลงทุนควรมีการกระจายการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วนนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ควรคำนึกถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย