นายศราวุธ จารุจินดา ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Sarawut Charuchinda, Head of Commercial Lending Group of Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยว่า "จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและข้อมูลจาก บล. ภัทร บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าในปี 2558 นี้ ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะขยายตัวประมาณ 17% โดยมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยการเติบโตคาดว่าจะมาจากการเปิดตัวใหม่ของโครงการอนโดมิเนียม แต่หากพิจารณาจากยอดขายใน 2 เดือนแรก(มกราคม-กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา พบว่าการฟื้นตัวของยอดขายของผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนใหญ่มาจากที่อยู่อาศัยแนวราบ ในขณะที่ take-up rate ของโครงการคอนโดยังไม่เปลี่ยนแปลงนัก และยังไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างชัดเจน"
สำหรับทิศทางภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าของไทยในปี 2558 นั้น ธนาคารเกียรตินาคินประเมินว่าตลาดหอพักสำหรับพนักงานโรงงานน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง จังหวัดที่น่าสนใจได้แก่นิคมอุตสาหกรรมแถบระยอง ชลบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ ส่วนตลาดอพาร์ตเม้นต์และหอพักสำหรับนิสิตนักศึกษาน่าจะมีทิศทางทรงตัว แต่จะมีแนวโน้มที่ดีในสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต เป็นต้น ส่วนธุรกิจโรงแรมยังเติบโตได้ดีในระยะต่อไปได้แก่จังหวัดด้านการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พังงา เชียงราย จังหวัดที่ได้แรงสนับสนุนจากการค้าชายแดน เช่น สงขลา หนองคาย และจังหวัดที่ได้แรงสนับสนุนจากการค้าการผลิต เช่น สมุทรสงคราม และลำพูน เป็นต้น
“ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคิน ปัจจุบันมียอดการให้สินเชื่ออยู่ที่ 48,103 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 เป็นสัดส่วน 26% ของสินเชื่อรวม) และในปี 2558 ธนาคารยังคงให้สินเชื่อในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ 6 ด้าน ประกอบไปด้วย สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม สินเชื่อธุรกิจขนส่ง สินเชื่อธุรกิจฟลอร์แพลน สินเชื่ออุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง สำหรับสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นสินเชื่อหลัก โดยเน้นแนวราบ ในพื้นที่ศักยภาพ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น”
นางจิราภรณ์ ลินมณีโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (Mrs. Jiraporn Linmaneechote, Assistant Managing Director, Research, Phatra Securities, Plc.) ได้กล่าวถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า “จากการสำรวจบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 7 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (พฤกษา, แลนด์แอนด์เฮ้าส์, แสนสิริ, เอพี, แอล.พี.เอ็น., ศุภาลัย, และคิวเฮ้าส์) มีการตั้งประมาณการเติบโตยอดขายปี 2558 นี้สูงขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากการคาดหวังถึงการฟื้นตัวของตลาดคอนโด ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ประมาณการการเติบโตสูงถึง 48% ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่ยังคงมาจากการมีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายใหญ่มีความคล่องตัวในการปรับตัว และอาจมีการปรับลดประมาณการถ้าแนวโน้มตลาดไม่ดีตามความ คาดหวัง
ในส่วนของซัพพลายใหม่ทางภัทรคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 16% มาที่อยู่ที่ 1.32 แสนยูนิต ในจำนวนนี้เป็นคอนโดมิเนียมประมาณ 56% การเปิดโครงการใหม่ปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเน้นการเปิดตัวโครงการในช่วงครึ่งปีหลัง การเปิดโครงการคอนโดจะมีมากในช่วงไตรมาส 2 และ 4 หากพิจารณายอดขาย 2 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2558) เราเห็นการฟื้นตัวของยอดขายของผู้ประกอบการรายใหญ่ในส่วนของที่อยู่อาศัยแนวราบของผู้ประกอบการรายใหญ่ ในขณะที่ take-up-rate ของโครงการแนวสูงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนักและยังไม่ได้มีการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างชัดเจน
หากวิเคราะห์ในส่วนของตลาดต่างจังหวัด ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความต้องการบ้าน ในตลาดต่างจังหวัด ได้แก่ แหล่งงาน แหล่งการศึกษา และแหล่งท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน ราคาสินค้าภาคเกษตรกรรมก็มีผลกระทบถึงความต้องการและความสามารถในการซื้อของตลาดต่างจังหวัด เราคาดว่าตลาดต่างจังหวัดน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขี้นอย่างช้า ๆ ในปีนี้ เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร
ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Dr. Piyasak Manason, Vice President, Industrial & Economic Research, Kiatnakin Bank Plc.) กล่าวว่า ทิศทางภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่าของไทยในปี 2558 ขยายตัวใกล้เคียงกับทิศทางภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยโดยรวม โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 0-3% อันเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยน่าจะเร่งตัวขึ้นที่ประมาณ 3.7% ในปีนี้ หลังจากที่ขยายตัวในระดับต่ำที่ 0.7% ในปี 2557 โดยตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อการเช่าน่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร (2) การจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ (3) จำนวนแรงงานจบใหม่ที่มากขึ้น และจากจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศมีจำนวนมากขึ้น
ทั้งนี้ หากแบ่งกลุ่มภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่าเป็น 4 กลุ่ม จะพบว่า (1) เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์สำหรับชาวต่างชาติน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ประมาณ 4% ในปีนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากปีก่อน ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างชาติกลับมาระดับหนึ่ง (2) ตลาดหอพักสำหรับพนักงานโรงงานน่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับประมาณ 2% ตามการขยายตัวของโรงงานและคนงานทั่วประเทศ โดยคาดว่าจังหวัดที่น่าสนใจได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแถบระยอง ชลบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ (3) ตลาดอพาร์ตเมนท์สำหรับพนักงานบริษัทน่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับประมาณ 3% ตามการขยายตัวของอาคารสำนักงาน และ (4) อพารต์เมนท์และหอพักสำหรับนิสิตนักศึกษาน่าจะมีทิศทางทรงตัวจากปีก่อน ตามการทรงตัวของปริมาณนิสิตนักศึกษาทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม เกียรตินาคินเห็นว่า สำหรับตลาดหอพักนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพเติบโตได้ดีได้แก่หอพักในปริมณฑลและต่างจังหวัด โดยเฉพาะใกล้กับสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต เป็นต้น
ทิศทางและแนวโน้มตลาดโรงแรมในภาพรวม
ในปี 2557 รายได้จากบริการด้านโรงแรมหดตัวประมาณ -7% ตามนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 คาดว่าอาจฟื้นตัวที่ประมาณ 8% ตามนักท่องเที่ยวชาวเอเชียและแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่ในระยะปานกลางอาจขยายตัวต่อเนื่องจากหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ทำให้ชาวอาเซียนติดต่อธุรกิจในไทยมากขึ้น และปัจจัยจากสายการบินราคาถูกที่เติบโตดี เป็นต้น
ทั้งนี้ เกียรตินาคินมองว่า ในระยะต่อไปโรงแรมระดับกลาง-ล่างอาจขยายตัวได้ดีกว่าระดับบน โดยเฉพาะ Budget Hotel ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในราคาย่อมเยา เนื่องจากราคาถูกกว่า สามารถจับตลาดนักท่องเที่ยวเอเชียและไทย รวมทั้งนักธุรกิจไทยได้ดี โดยเฉพาะโรงแรมที่เป็นสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่หากผู้ประกอบการรายเล็กสามารถความแตกต่างและประทับใจได้ก็ยังจะสามารถขยายตัวได้ดี และมองว่าจังหวัดที่ธุรกิจโรงแรมยังเติบโตได้ดีในระยะต่อไปได้แก่จังหวัดหลักด้านการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พังงา เชียงราย จังหวัดที่ได้แรงสนับสนุนจากการค้าชายแดน เช่น สงขลา หนองคาย และจังหวัดที่ได้แรงสนับสนุนจากการค้าการผลิต เช่น สมุทรสงครามและลำพูน เป็นต้น