วันนี้ (24 มีนาคม 2558) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องผลการเฝ้าระวังช่องรายการจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด โดยนางสาวสุภิญญา เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการทำข้อตกลงระหว่างสำนักงาน กสทช. และช่องรายการต่างๆ ก่อนที่จะออกอากาศ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งช่วงแรกแต่ละช่องมีความระมัดระวังการนำโฆษณาและรายการต่างๆ มาออกอากาศได้ดี แต่ในช่วงหลังพบว่าเริ่มมีการโฆษณาและรายการที่มีลักษณะเข้าข่ายโอ้อวด เกินจริงมากขึ้น และในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ร่วมกับคณะอนุกรรมการกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่เพื่อหาแนวทางการกำกับที่เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งส่งผลกับการต่อใบอนุญาตด้วย
“ในปีนี้นอกจากจะมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัดแล้ว สำนักงาน กสทช. ได้ตั้งงบประมาณสำหรับการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยเฉพาะการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมายไปยัง สำนักงาน กสทช.ภาคทั้ง 4 ภาค เพื่อเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ทั้งวิทยุและโทรทัศน์” นางสาวสุภิญญากล่าวเพิ่มเติม
ด้านเภสัชกรประพนธ์ กล่าวว่าในช่วงระยะที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.ได้ส่งเทปบันทึกของช่องรายการต่างๆ ให้ อย.ตรวจสอบว่าโฆษณาหรือรายการใดที่ไม่ได้รับอนุญาตการโฆษณาจาก อย.ที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โอ้อวด เกินจริง จำนวน ๔๙ ช่องรายการ ซึ่ง อย.มีคำสั่งระงับ และปรับ มีหลายช่องที่ถูกปรับเป็นเงินมหาศาล จนมีบางช่องรายการทำหนังสือมาขอผ่อนผันการจ่ายค่าปรับเนื่องจากต้องปิดกิจการไป
“การจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยาในสื่อที่ผิดกฎหมาย เป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขให้สำคัญมาก ดังนั้นการร่วมมือกันหลายภาคส่วนเช่นนี้ทำให้ปัญหานี้ดีขึ้นเป็นลำดับ” เภสัชกรประพนธ์กล่าว
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ล จำนวน 17 ช่องจาก 18 ช่อง พบว่ามีโฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช.เคยสั่งปรับไปแล้วจำนวน 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV), ทีวีมุสลิมไทยแลนด์, มีคุณทีวี, เอชพลัส (H+), และ ช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) และช่องที่เหลือเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยถูก กสทช.สั่งปรับ และพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวน 96 ผลิตภัณฑ์
การเฝ้าระวังของเครือข่าย 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล มีการเฝ้าระวังการโฆษณาทางสื่อจำนวน 18 ช่อง แบ่งเป็นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 10ช่อง ได้แก่ กู้ดฟิล์ม (GOOD FILMS), มงคล แชนแนล, โชว์ แชนแนล (Show Channel), อาร์ มูฟวี่ (R MOVIE), มีคุณ ทีวี, ช่อง 8, ช่อง 2, สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV), ทีวีมุสลิมไทยแลนด์, และยาตีมทีวี) เคเบิ้ลทีวี 8 ช่อง ได้แก่ เอชพลัส (H+), ทรูซีเล็ค (TRUE SELECT), โฮมแอนด์ฟู้ด (Home & Food), มิราเคิล (MIRACLE), ดาราเดลี่ (daradaily), มีเดียแชนแนล (MEDIA CHANNEL), 8 Channel, และไฮเซาท์นิวส์ (HiSouth News)
“การมายื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อตอกย้ำว่าเรายังคงพบการกระทำผิดที่มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่ และเครือข่ายเรียกร้องให้อย. และกสทช.ยกระดับการดำเนินการกับช่องรายการที่มีการกระทำความผิดซ้ำซาก เพราะช่องที่เครือข่ายมอนิเตอร์พบ มักเป็นช่องที่เปิดเข้าไปดูเมื่อไรก็พบโฆษณาที่โอ้อวด เกินจริงเกือบ 100 %” นายพชรกล่าว.