ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีพบผู้ป่วยโรคลิชมาเนีย ซึ่งเกิดจากการกัดของแมลงริ้นฝอยทราย (Sand fly) เพศเมียที่มีเชื้อลิชมาเนียและทำให้เกิดโรคได้ทั้งในคนและสัตว์อีกหลายชนิด เช่น หนู สุนัข แมว ม้า วัว ควาย ว่า โรคผิวหนังชนิดนี้เมื่อก่อนถือว่าไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเพราะเราไม่มีพาหะของโรค คือ แมลงริ้นทราย พบผู้ป่วยเฉพาะที่ได้รับเชื้อจากการไปทำงานที่ประเทศตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 2539 เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ในประเทศไทยมีเชื้อลิชมาเนีย โดยจะเป็นเชื้อคนละสายพันธ์กับที่เคยได้รับจากประเทศตะวันออกกลาง คือ เชื้อ ลิชมาเนีย ไซแอมเมนซิส ( Leishmania siamensis) ซึ่งทำให้เกิดโรคในคนไทยโดยมีการระบาดที่จังหวัดตรังและภาคใต้ แต่ก็พบกระจัดกระจายตามภาคอื่นด้วย? โดยจะพบในทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ หรือ คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
พบการระบาดครั้งล่าสุดที่จังหวัดตรัง เมื่อปี2553 โดยมีผู้ป่วยเพศหญิงเสียชีวิต ด้วยโรคลิชมาเนีย ที่เกิดจากตัวลิ้นชนิดหนึ่งที่เรียกว่าริ้นฝอยทรายด้วยการกัดและนำเชื้อโปรโตรซัวที่เรียกว่าลิชมาเนีย เข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้แผลเปื่อยและเกิดโรคแทรกซ้อนในอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ม้ามและกระดูกไขสันหลัง ซึ่งโรคดังกล่าวทางองค์การอนามัยโลกกําหนดให้เป็น 1 ใน 5 ของโรคเป็นโรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่ทางวงการแพทย์ ผู้ป่วยจะมีแผลเปื่อย มีไข้เป็นๆ หายๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลง ผิวสีคล้ำขึ้น ส่วนแผลที่เป็นรอยกัดจะมีลักษณะเฉพาะเป็นแผลขอบนูนแข็ง ข้างในเป็นสะเก็ดขาว ๆ
ริ้นฝอยทราย (sand fly) เป็นแมลงที่กัดกินเลือดคนและสัตว์ เมื่อดูดเลือดคนและสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคลิชมาเนีย ก็จะแพร่โรคไปสู่คนอื่นได้ พบในแถบตะวันออกกลาง อาการของโรคแบ่งได้ 3 ชนิด คือ ชนิดที่ไม่รุนแรง จะมีอาการที่ผิวหนัง มีตุ่มเล็ก ๆ ที่ผิวและแตกออกเป็นแผล อาจมีกว่า 100 แผลก็ได้ และชนิดรุนแรงที่ทำให้ติดเชื้อที่อวัยวะภายในมีชื่อเรียกว่า โรคคาลา อาซา (Kala azar) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้เรื้อรัง ซีด น้ำหนักลด ม้ามและตับโตหมดเรี่ยวแรง และชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่เกิดขึ้นกับเยื่อเมือก ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังแต่จะเกิดแผลลุกลามในอวัยวะที่มีเยื่อเมือกเช่น จมูก ปาก เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะชนิดที่ทำให้ติดเชื้อที่อวัยวะภายใน จะทำให้อัตราป่วยเพิ่มขึ้น100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปีและอาจทำให้เสียชีวิตได้ มักเป็นโรคของคนในชนบท เนื่องจากเชื้อมักจะพบในผู้ที่อยู่ในบ้านใกล้กับป่าหรือทำงานในป่า อาการโรคเบื้องต้น คือ จะมีผื่นนูนเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง และกลายเป็นแผล หายช้า มีไข้เรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ซีด ท้องอืด ตับม้ามโต และน้ำหนักลด วิธีป้องกันแนะชาวบ้านถางหญ้ารอบ ๆ บ้านให้โล่งเตียน โดยเฉพาะชาวชนบท การรักษาโรคลิชมาเนีย ในปัจจุบันจะใช้ยาฉีด 2 ชนิด คือ ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเป็นเวลา 14 วัน และชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน การรักษาได้ผลดีและหายขาด
โรคลิชมาเนียสามารถป้องกันได้โดย 1. สวมใส่เสื้อผ้ารัดกุมมิดชิด เมื่อต้องเข้าไปทำงานหรือพักค้างคืนในพื้นที่ที่คาดว่ามีริ้นฝอยทรายอาศัยอยู่เช่นในสวน ป่า หรือในสถานที่รกทึบ 2. ทายากันยุงให้ทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขาและแขน3. นอนในมุ้งที่ชุบด้วยสารกำจัดแมลง 4. ฉีดพ่นสเปรย์กำจัดยุงและแมลงภายในบ้าน 5. ดูแลบริเวณบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เพราะเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ 6. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณที่พักอาศัยและใช้สารกำจัดแมลงบนตัวสัตว์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
สำหรับในประเทศไทยนั้น เคยมีรายงานพบโรคนี้ 2 ช่วง คือในปี 2503-2529 และช่วงที่ 2 คือตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบโรคนี้ในคนที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อนและผู้ป่วยมีทั้งคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันปกติและภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ รวมทั้งชาวพม่าที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ในกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรค หรือกลุ่มคนไทยที่มีประวัติไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลางและคนไทยมุสลิมที่ไปร่วมพิธีฮัจย์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย หากประชาชนท่านใดมีข้อสังสัย สามารถส่งอีเมล์ มาที่ [email protected] ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จะมีแพทย์คอยตอบคำถามเพื่อไขข้อสงสัยให้อยู่เสมอ