พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การจัดสมัชชาครอบครัวระดับชาติเป็นภารกิจสำคัญที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานสถาบันครอบครัวแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นตัวแทนของครอบครัวได้มีพื้นที่ที่จะแสดงความคิดเห็นและความต้องการของตน ตามแนวคิดการมีส่วนร่วมให้เป็นฐานของการกำหนดนโยบายและมาตรการการพัฒนาสถาบันครอบครัวระดับชาติต่อไป กระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้จัดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น ๗ ครั้ง มีมติสมัชชาที่นำเข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบายได้ ๖ กลุ่มมติ ได้แก่
๑) กลุ่มการสื่อสารสังคม
๒) กลุ่มครอบครัวลักษณะเฉพาะ
๓) กลุ่มครอบครัวผู้สูงอายุ
๔) กลุ่มสวัสดิการสำหรับเด็ก
๕) กลุ่มการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
๖) กลุ่มการสร้างสมดุลประชากรอย่างมีคุณภาพ
โดยในปี ๒๕๕๗ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กำหนดหัวข้อหลัก “การพัฒนาแนวทางและรูปแบบที่เกื้อหนุนสัมพันธภาพให้ครอบครัวเข้มแข็งผ่านกลไกการพัฒนาเด็กเล็ก”เป็นประเด็นหลักสำหรับการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องสถานที่ดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้ครอบครัวแรงงานที่มีปัญหาความไม่สมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตครอบครัว ได้รับบริการในการดูแลลูกในขณะที่ตนทำงาน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องส่งลูกไปอยู่กับปู่ย่าตายายหรือเครือญาติในชนบท หรือจ้างพี่เลี้ยงที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เสี่ยงต่อพัฒนาการที่ดีของลูกและอาจถึงขั้นสูญเสียชีวิต ดังนั้น สถานที่ดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างสัมพันธภาพของครอบครัว สร้างพื้นฐานที่ดีของชีวิตเด็ก และส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรและคุณภาพของประชากรในสังคมผู้สูงอายุด้วย ซึ่งขณะนี้ ประเด็นดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี ๒๕๕๘ นี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) ได้จัดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ภายใต้หัวข้อหลักคือ “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว”เพื่อให้ปัญหาและความต้องการของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีความชัดเจนและได้รับการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เป็นประเด็นสำคัญในกลุ่มครอบครัวลักษณะเฉพาะ ซึ่งเป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทยในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งขณะนี้ รัฐยังขาด ความชัดเจนในเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
“การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการนำข้อเสนอและมติสมัชชาครอบครัว ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขของครอบครัว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยินดีที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินนโยบายและมาตรการใดๆ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับสถาบันครอบครัวในฐานะสถาบันที่หล่อหลอมสมาชิกให้มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป”พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย