อย. เตรียมยกระดับผักและผลไม้สดสู่ระดับ “พรีเมียม (Premium) เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคเข้าถึงผักที่มีคุณภาพและปลอดภัย

พฤหัส ๒๖ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๖:๐๓
อย. เดินหน้างานคุ้มครองผู้บริโภค เตรียมยกระดับผักและผลไม้สดสู่ระดับ “พรีเมียม (Premium)” ผลักดันให้มีมาตรฐานตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค และมีระบบตรวจสอบรับรองกระบวนการผลิตตามหลักสากล พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคเข้าถึงผักและผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัย

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงความเป็นมาว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้เริ่มต้นขับเคลื่อน “ผักและผลไม้ปลอดภัย” โดยมีกรอบแนวคิดในการดำเนินงานคือ ใช้ "แหล่งรับซื้อ" 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตลาดค้าส่ง , กลุ่มห้างค้าปลีก และกลุ่มภัตตาคาร/ร้านอาหารขนาดใหญ่ เป็นจุดคานงัดในการขับเคลื่อน เพื่อผลักดันให้เกิดระบบและกลไกการจัดการความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ผักและผลไม้ไปยังต้นน้ำ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการขึ้นทะเบียนและการรวมกลุ่มเกษตรกร ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนด้านวิชาการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว (Smart Farmer) รวมทั้งพัฒนาให้แหล่งรวบรวมและสถานที่จำหน่ายมีการจัดทำระบบประกันคุณภาพ และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ในขณะเดียวกันต้องมีการให้ความรู้ผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคผักและผลไม้ นอกจากนี้จะต้องมีการกำกับดูแลการนำเข้า พร้อมจัดทำฐานข้อมูลในการผลิตและการนำเข้าผักผลไม้ด้วย

นอกจากนี้ ดร. ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. เปิดเผยในรายละเอียดว่า อย. มีเป้าหมายการยกระดับสินค้าผักและผลไม้สดให้เป็นสินค้าพรีเมียม เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าสินค้าผักและผลไม้สดให้มีมูลค่าสูงขึ้น อันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงข้อความ “พรีเมียม” บนฉลากผักและผลไม้สด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการ ในวันนี้ (25 มีนาคม 2558)อย. ได้นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่จริง เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อมูลที่ได้มาสนับสนุนการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว โดยได้เลือก 2 พื้นที่ ได้แก่ คลีนฟาร์ม (Clean Farm) ตั้งอยู่ที่ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี มีระบบปลูกผักแบบยกแคร่ในโรงเรือน ซึ่งประยุกต์จากแปลงปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ ทำให้ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งเป็นฟาร์มที่ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)และยังเป็นแหล่งผลิตผักอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ทำดิน ทำปุ๋ย ทำการผลิตแปรรูป ขนส่งและจำหน่ายเอง ทำให้สามารถทวนสอบย้อนกลับได้ นอกจากนี้ยังไปศึกษาระบบปลูกผัก ณ แหล่งปลูกผักปลอดภัยบ้านหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี มีจุดเด่นที่เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกร ฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP การปลูกผักปลอดภัยของกลุ่มเกษตรกรนั้น จะไม่ใช้สารเคมีในการปลูกผัก แต่จะมีการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง เพื่อใช้ในการเกษตร มีทั้งน้ำหมักที่เป็นปุ๋ยสำหรับรดผักและน้ำหมักสำหรับไล่แมลง โดยหมักจากสมุนไพรไทยที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัย

ผู้อำนวยการสำนักอาหาร กล่าวต่อในตอนท้ายว่า ตามที่ อย. ได้มีการออกประกาศสาธารณสุข ฉบับที่ 365 พ.ศ. 2556 เรื่อง การแสดงข้อความ "พรีเมียม" บนฉลากอาหาร ไปแล้วนั้น โดยกำหนดว่า พรีเมียม หมายความว่าข้อความที่แสดงคุณภาพหรือมาตรฐานหรือคุณลักษณะเด่นเป็นพิเศษกว่าอาหารในชนิดหรือประเภทเดียวกันโดยทั่วไป ส่วนสาระสำคัญและเงื่อนไขการแสดงข้อความ นั่นคือ การแสดงข้อความพรีเมียมต้องได้รับความเห็นชอบจาก อย. และผลิตภัณฑ์มีคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศฯ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นจะต้องมีระบบการตรวจสอบรับรองกระบวนการผลิต ตามหลักสากลหรือเทียบเท่าตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และมีระบบตามสอบสินค้า

ส่วนสาระสำคัญของ (ร่าง) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงข้อความ “พรีเมียม”บนฉลากผักและผลไม้สด คือ มีคุณภาพหรือมาตรฐานเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานที่เด่นเป็นพิเศษแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ในชนิดหรือประเภทเดียวกันโดยทั่วไป โดยต้องเป็นมาตรฐานที่มีแหล่งอ้างอิงหรือยอมรับได้ในระดับประเทศ หรือมีข้อมูลทางวิชาการใน เรื่อง ประสาทสัมผัส ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของรายผลิตผลนั้น ๆ เช่น เกณฑ์ความหวาน มีสีสันที่สม่ำเสมอ ไม่มีร่องรอยของตำหนิ ไม่มีร่องรอยของการเน่า ไม่มีสิ่งเจือปนทางกายภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ต้องผลิตจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) หรือเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่นที่ไม่ต่ำกว่านี้ ส่วนสถานที่รวบรวมตัดแต่ง ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน Primary GMP หรือ GMPหรือ HACCP หรือมาตรฐานสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่ง สหราชอาณาจักร (BRC)หรือมาตรฐานอื่นที่ไม่ต่ำกว่านี้

จากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ หรือหน่วยรับรองที่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจให้การยอมรับ โดย (ร่าง) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและจะมีการบังคับใช้เป็นกฎหมายในเร็ววันนี้ และจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผักและผลไม้สดอย่างปลอดภัยและมีคุณค่าต่อร่างกาย

ด้านอาจารย์วีรศักดิ์ วงษ์สมบัติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและอุปนายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฟาร์มผักในปัจจุบัน มีการยกระดับให้มีคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น หลาย ๆ ฟาร์มทั่วประเทศได้รับมาตรฐาน GAP แต่จะต้องมีมาตรฐานอะไรที่มันเด่นกว่า GAP เริ่มต้นจากการวางผังฟาร์ม การสร้างโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติก มีมุ้ง กันฝนกันแดด และปรับอุณหภูมิได้ มีระบบมุ้งกันแมลง สามารถกันฝน เพราะคนทั่วไปจะไม่เข้าใจว่าฝนจะเป็นตัวร้าย ฝนตกหนัก ๆ ลงมาจะทำให้ใบฉีกขาด จะเกิดเชื้อโรคเชื้อรา ปุ๋ยก็จะละลายไปกับน้ำ หรือถ้าเราฉีดสมุนไพร โดนฝนทีเดียวมันก็ไปหมด คลีนฟาร์มจะปลูกด้วยดินจริงแต่เราอยู่บนแคร่ อยู่บนโต๊ะ เพราะโรคในดินมันเยอะ เยอะมากๆ ไหนจะหนอน มด ปลวก ก็แสดงว่าดินที่ปลูกผักของเราเชื้อโรคน้อยมาก และมีโรงเพาะต้นกล้าอีก เราเตรียมต้นกล้าให้อุดมสมบูรณ์ มาปลูกในดินที่มีศัตรูพืชน้อย มันก็โตได้ เพราะอายุผักมีเวลา 45 วัน เมื่ออยู่ในโรงเพาะ 2-3 อาทิตย์ ย้ายมาอยู่ในโรงเรือนอีก 20 กว่าวัน ก็สามารถโตได้โดยไม่ต้องใช้ยา ต้องคอยเดินตรวจหนอน ตรวจแมลง ถ้าเกษตรกรขี้เกียจก็ใช้ยาฉีด แต่พอรอเวลาให้มันสลายตามผลที่บังคับ 7-10 วัน แต่ผมให้เกษตรกรตรวจ ซึ่งต้องขยันตรวจ ดูหนอน ต้องจับออก ค่อยๆเริ่มไป ต่อไปเน้นเรื่องการเก็บเกี่ยว เช่นผักคะน้า ผักกาด ต้อง 45 วันตรงเวลา

ด้าน นายประยุทธ์ ผดุงไพร ประธานกลุ่มกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ต.บ้านหลวง จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี เริ่มปลูกผักปลอดภัย ตั้งแต่ปี 2555 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักส่งเสริมการเกษตรเขตที่ 1 ที่ได้อบรมถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการปลูกผักปลอดภัย คลอบคลุมพื้นที่ของเกษตรกรกว่า 100 ไร่ ซึ่งทำการปลูกผักเศรษฐกิจทั่วไปกว่า 30 ชนิด การปลูกผักปลอดภัย ของที่นี่ในปัจจุบันได้รับการรับรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งนอกจากผลผลิตที่ปลอดภัยแล้ว ยัง สด สะอาด รสชาติดี

สำหรับผลิตผลของที่นี่ มีจุดเด่นที่เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ริเริ่มการปลูกกระเจี๊ยบเขียว เพื่อการส่งออกเป็นรายแรก และประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมปลูกกระเจี๊ยบเขียวเพิ่มขึ้น โดยส่งให้กับบริษัทเอกชนเป็นผู้ส่งออกผักสดไปประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ผักที่เกษตรกรปลูกเพื่อส่งออกมี 3 ชนิด คือ กระเจี๊ยบเขียว ใบปอและ ถั่วฝักยาว สำหรับผักชนิดอื่นๆ มีการผลิตเพื่อส่งขายในตลาดท้องถิ่น เช่นบวบเหลี่ยม บวบงู มะระจีน มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือเทศ พริกสด ฟักทอง แตงโมอ่อน ข้าวโพด ข้าวเหนียว พืชผักที่ได้รับใบรับรอง GAP แบบกลุ่ม 3 ชนิด คือ กระเจี๊ยบเขียว พริกอ่อน และพริกขี้หนูสวน นอกจากนี้กระเจี๊ยบเขียวยังเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ของอำเภอดอนพุด จังหวัด สระบุรีอีกด้วย

การปลูกผักปลอดภัยของกลุ่มเกษตรกรนั้น จะไม่ใช้สารเคมีในการปลูกผัก แต่จะมีการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง เพื่อใช้ในการเกษตร มีทั้งน้ำหมักที่เป็นปุ๋ยสำหรับรดผัก น้ำหมักที่ใช้สำหรับเป็นฮอร์โมนให้ผัก และน้ำหมักสำหรับไล่แมลง โดยหมักจากสมุนไพรไทยที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยและสามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่น โดยมีการใช้น้ำหมักรดผัก 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง และ 15 วันก่อนเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เปรียบเสมือนเป็นการให้แร่ธาตุแก่ผักเพื่อให้ผักโตมาอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ โดยเกษตรกรที่เป็นกลุ่มสมาชิกสามารถนำน้ำหมักไปใช้แปลงผักของตัวเองได้เลย และยังสามารถเรียนรู้การทำน้ำหมัก เพื่อสามารถนำไปทำใช้เองที่บ้านได้อีกด้วย สำหรับการปลูก เป็นการปลูกแบบธรรมชาติ เป็นแปลงดิน ไม่มีโรงเรือน ทั้งนี้เพื่อให้มีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากขึ้น นำไปสู่การสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากยิ่งขึ้น

สำหรับในเรื่องการตลาด ในกลุ่มสมาชิกจะมีการประชุมกันทุก ๆเดือน เพื่อปรึกษากันถึงเรื่องพืชผักที่จะปลูกในฤดูกาลต่อไป จะมีการวางแผนทางการตลาดกันก่อน โดยจะดูความต้องการของตลาดเป็นหลัก ว่าช่วงนั้นตลาดต้องการผักอะไรบ้าง เช่น หน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาว ต้องการผักอะไร ชนิดใดบ้าง หรือพ่อค้าที่มารับซื้อต้องการผักชนิดไหนเป็นพิเศษ ก็จะนำเรื่องนี้มาเข้าที่ประชุมและปรึกษากันในกลุ่มสมาชิก เพื่อลงมือทำการเกษตรกันต่อไปในฤดูกาลหน้า นอกจากนี้ยังสามารถปลูกผักเมืองหนาวได้บางชนิด เช่น ดอกกระหล่ำ ก็กลายเป็น ดอกกระหล่ำพันธุ์หน้าร้อน บล็อกโคลี่ ก็เป็น บล็อกโคลี่พันธุ์หน้าร้อน ซึ่งรูปร่างและรสชาติไม่แตกต่างกัน ส่วนเป้าหมายต่อไปคือ ต้องเพิ่มชนิดผักให้มากขึ้นในการขอใบรับรอง GAP แบบกลุ่ม เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับการเกษตรใน อ.ดอนพุด จ.สระบุรี ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ