“ทรัพย์สินทางปัญญา” สร้างธุรกิจยั่งยืน สกว. -ม.สงขลานครินทร์ - ซีดีไอพี ร่วมพัฒนาต่อยอด

พฤหัส ๒๖ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๖:๑๖
นับเป็นความสำเร็จของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในส่งเสริมการใช้“ทรัพย์สินทางปัญญา” ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการจับคู่ธุรกิจทำ Business matching ระหว่างเจ้าของสิทธิบัตร นักวิจัย กับ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานทรัพย์สินทางปัญญา ในงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา IP Fair 2015 ที่ผ่านมา ผลงานด้าน ”สิทธิบัตร” เรื่อง ระบบนำส่งยาชนิดก่อแพที่มีส่วนผสมเป็นสารประกอบละลายน้ำยากในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน สูตรก่อแพที่มีส่วนผสมเป็นเคอคูมินในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเตรียมโดยใช้สูตรดังกล่าว ระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย ) โดยมี นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในฐานะเจ้าของผู้ยื่นคำขอรับ ”สิทธิบัตร” กรรมวิธีการสกัดสารจากขมิ้นชันเพื่อใช้ทำยารักษาโรคกระเพาะอาหาร มอบอำนาจให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้บริหารจัดการสิทธิและทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับบริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด ในการใช้กรรมวิธีดังกล่าว ไปผลิตเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร โดยจะรับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM และผู้จ้างผลิตจะนำผลิตภัณฑ์ไปขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตัวเอง

ผลงานวิจัยพัฒนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ฤดีกร วิวัฒนปฐพี และคณะผู้วิจัยสังกัดคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นี้ จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยการนำกรรมวิธีดังกล่าวไปใช้กับสารสกัด “เคอร์คูมิน” ซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากเหง้าของสมุนไพรขมิ้นชัน สามารถลดการอักเสบ สมานแผล และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่ากรรมวิธีตามสิทธิบัตรนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เคอร์คูมินละลายน้ำได้เพิ่มขึ้นและยืดระยะเวลาให้ เคอร์คูมินอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานขึ้น เมื่อสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารจะกลายเป็นแพเจลลอยตัวอยู่ในบริเวณกระเพาะอาหาร ยาที่อยู่ในระบบค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ออกฤทธิ์บริเวณกระเพาะอาหารได้นานขึ้น ส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคในกระเพาะอาหารดีขึ้นกว่าเดิม และแพเจลที่เกิดขึ้นในกระเพาะอาหารยังช่วยป้องกันและบรรเทาอาหารของโรคกรดไหลย้อนได้อีกด้วย

การอนุญาตให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ เป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงโดยเจ้าของสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทฯ เป็นรายปีไปจนตลอดอายุของสัญญา นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทในการส่งเสริมการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ดร. สิทธิชัย แดงประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะนำสารสกัดจากขมิ้นชันที่ได้จากผลงานวิจัยพัฒนาซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการทดสอบใกล้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วนี้ มาพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจร่วมกับเครือข่ายบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายต่างๆ ได้นำไปขยายผลทางการผลิตและการตลาด ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาหารและยาในรูปของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและยาเพื่อนำออกสู่ตลาดต่อไป เริ่มต้นจากตลาดภายในประเทศก่อน และจะขยายการส่งออกสู่ตลาดอาเซียนในอนาคต ลูกค้าของบริษัทฯ ส่วนใหญ่มีทั้งบริษัททำธุรกิจขายตรงในประเทศไทยและบริษัทการตลาดในระดับชั้นนำของประเทศหลายแห่ง

ซีดีไอพี (ประเทศไทย) เล็งเห็นความสำคัญนำผลงานทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงเปิดธุรกิจขึ้นเป็นตัวกลางเพื่อมองหาผลงานวิจัยและสิทธิบัตรของคนไทยดีๆ ที่มีอยู่มากมาย มาต่อยอดให้เกิดธุรกิจเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทด้านการตลาด ได้นำไปพัฒนาและจัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง ที่ผ่านมาบริษัทฯ มี “สิทธิบัตร” ที่ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและเครื่องหมายการค้าต่างๆ มากกว่า 200 รายการ มี“อนุสิทธิบัตร” อีก 6 รายการ และกำลังใช้สิทธิบัตรเพื่อยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าใหม่อีก 1 รายการ สามารถสร้างรายได้ 100 ล้านบาทจากการลงทุนปีแรก 1 ล้านบาท มีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้เป็น 300 ล้านบาทในปี 2558 และ 500 ล้านบาทในอนาคต พร้อมเตรียมนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำเงินทุนมาขยายธุรกิจที่เติบโตในอนาคต” ดร.สิทธิชัย กล่าว

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้นานาประเทศใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลจึงได้มีนโยบายสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม เน้นการนำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพัฒนาต่อยอด และประยุกต์ใช้ประเทศในเชิงพาณิชย์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555-2559)

“กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้นำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่การส่งเสริมและเร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์ไปจนถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจให้สามารถครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า นอกจากภารกิจงานสำคัญของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แล้วกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัย นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และภูมิปัญญาไทย ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เกิดมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับธุรกิจและผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่นำทรัพย์สินทางปัญญา ไปต่อยอดให้เกิดผลผลิตที่งอกงามทั้งแก่ตนเองและประเทศชาติด้วย

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ยังได้จัดพิจารณาคัดเลือกและมอบ “ รางวัลผู้ประกอบธุรกิจดีเด่นด้านการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ประจำปี 2558” หรือรางวัล “IP Champion 2015” เพื่อประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบธุรกิจที่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ในรางวัลต่างๆ 4 ประเภทได้แก่ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำพิธีมอบรางวัลในวันที่ 30 เมษายน 2558 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานแผนงานและประเมินผล สำนักงานบริหารกลาง โทร 02-547-4309 E-mail: [email protected]

กรมทรัพย์สินทางปัญญา

www.ipthailand.go.th

สายด่วน 1368

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย