โดยได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์แอร์โรว์ และบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ที่ให้โอกาสและส่งเสริมให้เยาวชนไทย ได้เรียนรู้ พัฒนา ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านของน้องๆ เยาวชนไทยให้มีรากฐานที่แข็งแรง
ทางด้าน คุณอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการฯ ได้กล่าวว่า การจัดค่ายฯ นี้ สืบเนื่องมาจากโครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ : ชิงทุนการศึกษาธนาคารกรุงเทพ ผ่านงานวิจารณ์วรรณกรรม” โครงการนี้ได้เริ่มเมื่อ 1 ก.ย. 2557 สิ้นสุด 31 มี.ค. 2558 เป็นโครงการฯ ที่มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน – นักศึกษา รวมมูลค่าทุนการศึกษาสุทธิ จำนวน 2 ล้านบาท ที่ทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มอบโดยตรงให้กับผู้ที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 30 คน แบ่งเป็นทุนการศึกษาจำนวน 30 ทุน และน้องๆ เยาวชนผู้ผ่านเข้ารอบ 30 คนสุดท้ายที่ได้มาร่วมค่ายวิจารณ์วรรณกรรมเหล่านี้มีทั้งระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับปริญญาตรี โดยคัดเลือกจากผู้ที่ส่งบทสรุปใจความสำคัญจำนวนกว่า 600 คน ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจมาก ที่น้องๆ ที่เข้าร่วมประกวดมีความตั้งใจ และมุ่งมั่น ในการสมัครโครงการฯ นี้มาด้วยตนเอง โดยมีการสนับสนุนจากผู้ปกครอง คุณครู
การวิจารณ์นั้นแตกต่างจากการเขียนเพื่อนนำเสนอเนื้อหาโดยทั่วไป ยุคปัจจุบันนี้มักจะพูดเรื่องการเขียนและการวิจารณ์สลับกันไปมา ซึ่งในค่ายวิจารณ์วรรณกรรมได้เชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชียวชาญศาสตร์และศิลป์ที่หลากหลายนำโดย คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ดร.สิริกร มณีรินทร์, คุณนิเวศน์ กันไทยราษฎร์, คุณชมัยภร (บางคมบาง) แสงกระจ่าง, พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุขโข, คุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง มาให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการวิจารณ์ หลักคิดง่ายๆ แก่น้องๆ ในหัวข้อ “ความสำคัญของการอ่านต่อชีวิต” และ “การวิจารณ์ที่ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่แข็งแรง” โดยเฉพาะเรื่องของ “การอ่าน” เพราะการอ่านเป็นต้นทางของการเรียนรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เมื่อน้องๆ อ่านหนังสือแล้วจะต้องตีความให้แตก และต้องเข้าใจถึงแก่นเรื่องราวของหนังสือ และที่สำคัญก่อนการวิจารณ์นั้นจะต้องรู้จักจำแนก แยกแยะ วิเคราะห์ให้ได้ว่าภาษาสวยหรือไม่ โครงสร้างแข็งแรงหรือไม่ เนื้อหาแน่นและกระชับหรือไม่ หลักคิดนี้จะทำให้น้องๆ เติบโตเป็นนักวิจารณ์ที่ดีได้
กิจกรรมเข้าค่ายฯ นี้ฝึกอบรมติวเข้มในเรื่อง “หลักการวิจารณ์และการเขียนบทวิจารณ์” โดยจะให้น้องๆ ฝึกปฏิบัติเขียนบทวิจารณ์ด้วยตนเอง โดยแบ่งกลุ่มเขียนบทวิจารณ์งานประเภทสารคดี และประเภทนิยาย โดยมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อแนะนำอย่างใกล้ชิดพร้อมตรวจบทวิจารณ์ในค่ายฯ ซึ่งความรู้จากการค่ายวิจารณ์วรรณกรรมแห่งนี้ น้องๆ ที่มาร่วมค่ายฯ จะเข้าใจและสามารถนำความรู้หลักการวิจารณ์ นำไปต่อยอดได้ในงานต่างๆ ได้ เมื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคม ก็สามารถจับประเด็นในการวิจารณ์ไปใช้ในสายงานวิชาชีพที่ตนเองเลือก และอีกทั้งพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ ต่อไปได้ เช่น สามารถนำความรู้มาทำอาชีพบรรณาธิการก็ย่อมได้ โดยเป็นเสมือนกระจกเงาที่กระจ่างปลอดอคติ ในการอ่านงานเขียนของนักเขียน แล้วคอยติชมเพื่อให้ปรับงานเขียนไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่อง ตัวละคร ตัดส่วนที่เกิน เพิ่มส่วนที่ขาด นำเข้าสู่ดุลยภาพหรือความเหมาะสม ทางคณะผู้จัดโครงการฯ ขอเอาใจช่วยในการสร้างสรรค์เยาวชนไทยรุ่นใหม่ สู่นักวิจารณ์ไฟแรง นำไปสู่การสร้างทรัพยากรทางปัญญาที่หลากหลายและทรงคุณภาพสำหรับบรรณพิภพต่อไป