ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีอากร สภาหอการค้า-แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาระสำคัญในการการปฏิรูประบบภาษีสรรพสามิต คือการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยใช้ระบบผสมและใช้ราคาขายปลีกแนะนำมาเป็นฐานในการคิดภาษีแทนการคิดจากราคานำเข้า (CIF) หรือ ราคาหน้าโรงงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยการเปลี่ยนวิธีการคิดภาษีลักษณะใหม่นี้จะทำให้เกิดความโปร่งใสง่ายต่อการตรวจสอบทั้งจากผู้บริโภคและรัฐเอง เป็นการป้องกันและขจัดปัญหาการสำแดงราคาต่ำเพื่อเลี่ยงภาษีและช่วยให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในจุดที่เป็นปัญหาอุปสรรคกับทั้งรัฐและเอกชนในหลายมาตรา
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับภาคเอกชน ได้ให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตอย่างแท้จริง ตลอดจนกระบวนการหารือในรายมาตราและจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นรายอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ภาคเอกชนได้มีโอกาสนำเสนอประเด็นต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะยึดหลักการรายได้คงเดิม (revenue neutrality) เพราะจุดประสงค์ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิตครั้งนี้เป็นไปเพื่อสร้างความโปร่งใสและเท่าเทียมกัน สภาหอการค้าฯ มองว่าการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง อีกทั้งการปรับอัตราการจัดเก็บขึ้นนั้นยังไม่สอดคล้องกับหลักการที่กรมสรรพสามิตได้เคยหารือตกลงร่วมกับภาคเอกชนไว้ก่อนหน้านี้ เพราะจะเป็นการผลักภาระให้ภาคธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ จะทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภคซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากทางด้านเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่แล้ว
“สภาหอการค้าฯ เห็นว่า เมื่อเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีแล้วก็ต้องปรับลดอัตราภาษีลงเพื่อให้รายได้เท่าเดิมตามหลักการรายได้คงเดิมโดยไม่มีการเพิ่มภาระภาษี เพื่อให้การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากในปัจจุบันและไม่กระทบต่อรายได้ของรัฐเราหวังว่าร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตจะได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับถัดไปซึ่งสภาหอการค้าฯ ยินดีเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาออกกฎหมายนี้ในทุกขั้นตอน”ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว