ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองเลียน บัวจูม ผู้ช่วยอฺธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ทางคณะสัตวศาตร์ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตอาหารสัตว์อินทรีย์ เพื่อรองรับระบบการเลี้ยงสัตว์ในระบบอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกร ยังไม่มีความเข้าใจการผลิตพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรบางส่วนยังขาดความมั่นใจในตลาดที่รองรับผลผลิต ส่วนเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์ยังขาดแคลนอาหารสัตว์ ที่นับได้ว่าเป็นปัจจัยหลักสำหรับการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และขนาดกลาง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น การจัดโครงการเสวนาในครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ และผู้เลี้ยงสัตว์อินทรีย์ ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความต้องการของแต่ละฝ่าย อันเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจในการผลิตอาหารสัตว์อินทรีย์ของเครือข่าย อีกทั้งพบปะเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องในการสร้างโรงงานอาหารสัตว์อินทรีย์ และพูดคุยถึงความความเป็นไปได้ในการผลิตอาหารสัตว์อินทรีย์ในอนาคต และเพื่อศึกษาถึงความพร้อม ความต้องการของกลุ่มเครือข่าย ตลอดจนสรรหาเกษตรกรผู้สนใจร่วมโครงการปลูกพืชอาหารสัตว์อินทรีย์”
รูปแบบการจัดงานมีทั้งการบรรยายและการเสวนา โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีเปิด หัวข้อการบรรยาย ได้แก่ เรื่อง “การผลิตอาหารสัตว์” วิทยากรโดย ดร.ธำรงค์ศักดิ์ พลบำรุงจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ,เรื่อง “มาตรฐานอาหารสัตว์อินทรีย์” วิทยากรโดย คุณประเสริฐ โพธิ์จันทร์ จากกรมปศุสัตว์ , เรื่อง “การเลี้ยงสัตว์ในระบบปศุสัตว์อินทรีย์” วิทยากรโดย คุณไพโรจน์ เฮงแสงชัย จากกรมปศุสัตว์ เขต 5
การเสวนา เรื่อง “อาหารสัตว์อินทรีย์ทางเลือกและทางรอดของปศุสัตว์” ร่วมเสวนาโดย ดร.ธำรงค์ศักดิ์ พลบำรุง, คุณประเสริฐ โพธิ์จันทร์ คุณไพโรจน์ เฮงแสงชัย และตัวแทนเกษตรกรอีก 3 ท่าน มี ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนั้นจะมีการแนะนำโครงการผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์อินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองเลียน บัวจูม ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นวิทยากร พร้อมทั้งจะมีกิจกรรมสำรวจข้อมูลพื้นฐานจากกลุ่มเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกด้วย
ท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมการเสวนาได้ในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ งานนี้ ฟรี....ไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร.0 5387 3440-2