นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPOผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ ผลพลอยได้ รวมทั้งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากของเสียหรือสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจน้ำมันปาล์มดิบว่า ขณะนี้ส่งสัญญาณที่ดีขึ้นจากผลผลิตปาล์มที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้นโยบายภาครัฐสนับสนุนโดยกรมธุรกิจพลังงานประกาศเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลจากผสม 3.5% เป็น 7% หรือ B7 สนับสนุนให้มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันปาล์มดิบจะสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับความต้องการใช้ด้วย และรัฐบาลยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถใช้ในการบริโภคในประเทศ และใช้เป็นพลังงานได้
สำหรับทิศทางผลผลิตปาล์มในปีนี้ เริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ และช่วงที่ทยอยออกมามากที่สุดน่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังโดยประมาณการผลผลิตปาล์มทั้งปี 2558 จะทยอยออกสู่ตลาดประมาณ 13 ล้านตัน ส่งผลให้ทิศทางราคาผลปาล์มมีแนวโน้มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากผลผลิตปาล์มทั้งปี 2557 ที่ออกสู่ตลาดลดลงอยู่ที่ 11.8 ล้านตัน เนื่องจากเป็นช่วงผลปาล์มพักตัวหลังออกติดกันมาหลายเดือน ประกอบกับสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงเกิดปัญหาการเก็งกำไรในตลาดมาระยะหนึ่ง แต่ความท้าทายของธุรกิจปาล์มน้ำมันก็ยังไม่หมดลง จากภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ รวมถึงราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ และปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยกับมาเลเซียยังต่างกันเกือบ 8 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อเกิดความต่างของราคาสินค้าก็ถือเป็นเหตุการณ์ผิดปกติที่ยังคงต้องจับตามองและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์
จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ ต้องติดตามผลผลิตปาล์มทั้งปีว่าจะออกมากน้อยแค่ไหนอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก VPO จะมีกำไรมากที่สุดคือช่วงที่ผลผลิตปาล์มทยอยออกสู่ตลาดมากที่สุด และไม่สามารถบอกช่วง High season ของธุรกิจที่ชัดเจนได้ เนื่องจากผลผลิตปาล์มในแต่ละปีออกมากหรือน้อยในช่วงเวลาที่แตกต่างกันนั่นหมายความว่า บริษัทที่มีความพร้อมกว่าจะได้เปรียบ ซึ่ง VPOเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดชุมพร มีกำลังการผลิตรวม 180 ตันปาล์มสดต่อชั่วโมง
“ในปี 2557 ผลปาล์มอยู่ในช่วงพักตัว หลังจากออกผลผลิตเป็นจำนวนมากติดกันมาหลายเดือน และอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคใต้ปี 56 ต่อเนื่องปี 57 เจอกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตปาล์มต่อไร่ลดลง ส่งผลให้มีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และราคาสูงมาก ไม่คุ้มในการผลิต บริษัทฯ จึงมุ่งรักษาผลตอบแทนในกำไรที่ดี มากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ถึงแม้ปี 57 ที่ออกมามีกำไรลดลง แต่ทั้งนี้ สภาวะภูมิอากาศในภาคใต้ปี 57 ต่อเนื่องปี 58 เอื้ออำนวย และมีสัญญาณที่ดีจากผลผลิตปาล์มในเดือนมีนาคมที่ออกมา
ดีขึ้น แม้ยังไม่มากนัก แต่คาดว่าผลผลิตปาล์มจะค่อยๆ ออกมามากขึ้นในเดือนเมษายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ในปัจจุบันพื้นที่การปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นปาล์มที่มีอยู่ อายุ 5-15 ปี ก็มีเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกปาล์มและอยู่ในช่วงผลผลิตออกมาเยอะ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีปัจจัยกดดันจากตลาดโลก ทำให้ทิศทางสำหรับปีนี้ยังค่อนข้างคาดการณ์ได้ยาก แต่ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทำให้เชื่อว่าในปี 2558 นี้ VPO ก็จะมีผลประกอบการที่ไม่น้อยหน้าใครในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้อย่างแน่นอน” นายกฤษดา กล่าว
นายกฤษดา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.05 บาทโดยกำหนดวันไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 27 เมษายน 2558 กำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 19 พฤษาคม 2558 เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกทันที หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2557 ว่า VPO มีอัตรากำไรขั้นต้นปี 2557 เท่ากับ19.49% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 15.35% และมีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 93.82 ล้านบาท จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 131.01 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ VPO มีอัตรากำไรขั้นต้นปี 2557 เท่ากับ19.49% เนื่องมาจากภาวะที่มะพร้าวขาดตลาดเพราะความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยนที่ฟิลิปปินส์ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 ประกอบกับปริมาณปาล์มที่ลดลง ทำให้ราคาเมล็ดในปาล์มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาขายเฉลี่ยเมล็ดในปาล์มของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น 57.28% ซึ่งสูงกว่าราคาผลปาล์มที่ปรับเพิ่ม ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทฯ ในส่วนของเมล็ดปาล์มเพิ่มขึ้นจาก 1.32% ในปี 2556 เป็น 25.39% ในปี 2557
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นจาก 199.65 ล้านบาท ในปี 2556 เป็น 256.04 ล้านบาทในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 28.24% เนื่องจากปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่กระบวนการผลิตน้อย ทำให้มีค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรบางส่วนในวันที่ไม่ได้ทำการผลิต ถูกปรับจากต้นทุนขายมาอยู่ในค่าใช้จ่ายบริหาร ซึ่งบันทึกอยู่ในบัญชีค่าใช้จ่ายในการปิดซ่อม ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการปิดซ่อมเพิ่มขึ้น 53.21 ล้านบาท
ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2557 เท่ากับ 93.83 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณปาล์มที่ลดลง อัตราการให้น้ำมันลดลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายหลักของบริษัทฯ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เงินเดือนและค่าแรง ปริมาณปาล์มที่ลดลง จึงส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ดังกล่าว