๑) การช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่บนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
๒) การช่วยเหลือแรงงานที่ติดค้างบนเรือและผู้ที่ต้องการเดินทางกลับ
๓) การตรวจสอบศพคนไทยในสุสาน
๔) การส่งกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย
นายอนุสันต์ กล่าวต่อไปว่า ทีมชุดเฉพาะกิจฯ ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกเรือประมง (One Stop Service) ที่เกาะอัมบนเรียบร้อยแล้ว และตนได้รับรายงานจาก พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหัวหน้าคณะ ว่าหลังจากมีการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อรับลงทะเบียนลูกเรือประมงแล้ว ๒ วัน (วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘ ถึง ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘) พบลูกเรือประมงเข้ารายงานตัวกับชุดเฉพาะกิจจากประเทศไทยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๑ คน เป็นคนไทย ๕๗ คน เมียนมาร์ ๓๙ คน ลาว ๒ คน และกัมพูชา ๓ คน โดยคาดว่าจะมีกำหนดกลับประเทศไทยในอีก ๒ สัปดาห์ข้างหน้า และสำหรับภารกิจของทีมชุดเฉพาะกิจฯในวันนี้ จะมีการเรียกเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย จำนวน ๘๒ ลำ เข้ามาตรวจสอบ โดยตั้งเป้าวันละ ๒๐ ลำ ซึ่งจะใช้เจ้าหน้าที่ทีมละ ๕ คน แบ่งเป็น ๒ ทีม ช่วยกันตรวจตราในด้านต่างๆ อาทิ ทะเบียนเรือ หนังสือคนประจำเรือ (Seaman book) สุขภาพของลูกเรือ เป็นต้น พร้อมทั้งสำรวจรายชื่อแรงงานไทยที่ไม่ประสงค์อยู่ต่อและต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเตรียมเดินทางไปยังเกาะเบนจินา เพื่อตรวจสอบเรือประมงประมาณ ๕๐ ลำ และสำรวจลูกเรือประมงที่ตกค้างเพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
นายอนุสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีลูกเรือประมงไทย ๒๑ คน ที่เดินทางกลับมาแล้วนั้น เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ประสานทีมสหวิชาชีพประกอบด้วย พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ นักสังคมสงเคราะห์จากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ(ชาย) จังหวัดปทุมธานี ร่วมกันสัมภาษณ์คัดแยกผู้เสียหาย ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จังหวัดปทุมธานี โดยผลการคัดแยกพบว่า มีลูกเรือประมงที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน ๕ คน ซึ่งผู้เสียหายมีที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ชลบุรี ชัยภูมิ และอุบลราชธานี ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบเงินกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นค่าครองชีพและการเดินทางกลับภูมิลำเนาสำหรับผู้เสียหายคนไทยส่งกลับจากต่างประเทศ คนละ ๓,๐๐๐ บาท และได้ประสานเจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อดูแลช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ให้กับลูกเรือประมงทั้งหมดก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา นอกจากนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะได้ติดตามดูแลครอบครัวตามภูมิลำเนาเดิมของลูกเรือประมงไทยทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือครอบครัวอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ ยังคงมีลูกเรือประมงที่อยู่ในความคุ้มครองชั่วคราวของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จังหวัดปทุมธานี จำนวน ๓ คน โดยเป็นผู้เสียหาย จำนวน ๒ คน และเป็นลูกเรือประมงที่ประสบปัญหา จำนวน ๑ คน นอกนั้นได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาแล้ว
"นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับการประสานจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ว่ามีการส่งกลับลูกเรือประมงไทยจากเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำนวนอีก ๖ คน กำหนดถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ในวันที่๑ เมษายน ๒๕๕๘ โดยสายการบิน Air Asia เที่ยวบินที่ QZ ๒๕๒ เวลา ๒๐.๑๕ น. อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่และงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามช่วยเหลือเยียวยาลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาทุกคนอย่างเต็มที่หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมทั้งประสานกับญาติของลูกเรือประมง เพื่อติดต่อรับกลับภูมิลำเนา ส่วนกรณีลูกเรือประมงไทย ๕๗ คน ที่รายงานตัวกับชุดเฉพาะกิจจากประเทศไทยที่เกาะอัมบนนั้น จะได้แจ้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ดำเนินการประสางานแจ้งญาติที่อยู่ในภูมิลำเนาของลูกเรือให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดที่ประสงค์จะสอบถามหรือขอความช่วยเหลือตามหาญาติ สามารถโทรมาสอบถามได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCCโทร ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” นายอนุสันต์ กล่าวท้าย