ทั้งนี้ ในด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ศ.ดร.ประมวญ เทพชัยศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยได้สนับสนุนบุคลากรให้ผลิต“งานวิจัยที่ได้มาตรฐานแก้ไขปัญหาสังคม”ทำให้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเผยแพร่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) ระดับประเทศและระดับนานาชาติ และยังสนับสนุนการจัดหาทุน รวมทั้งการเพิ่มทุนวิจัยให้กับองค์กรต่างๆอีกมากมาย นอกจากนี้ฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังได้สนับสนุนให้อาจารย์ทุกคนมีผลงานตีพิมพ์อย่างน้อยปีละ 1 เรื่องรวมทั้งการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายสำหรับการวิจัยการพัฒนาเว็บไซต์ของฝ่ายวิจัยเพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่นักวิจัยจากทั่วโลก
“จำนวนผลงานวิจัยของคณาจารย์เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 20-30% ในแต่ละปี รวมทั้งการได้รับรางวัลด้านการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์มาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยในปีนี้คณาจารย์ได้รับรางวัลดีเด่นในสาขาปรัชญาสาขานิติศาสตร์และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศรางวัลดีเด่นงานวิจัยสาขาสังคมศาสตร์และรางวัลผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชและเศรษฐศาสตร์และผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่นสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยาถึง 2 รางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น” ศ.ดร.ประมวญกล่าว
ส่วนความสำเร็จในด้านการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนผ่านโครงการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบของการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และการสร้างเครือข่ายในด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติในทุกคณะ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการในบริบทของต่างประเทศและนำธรรมศาสตร์ก้าวออกไปสู่เวทีโลกมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติและภาคภาษาอังกฤษกว่า 300 หลักสูตรครอบคลุมทุกสาขาวิชา
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาในลักษณะของการแลกเปลี่ยนทางวิชาการประมาณ 1,000 คน อาจารย์ต่างชาติประมาณ 450 คนและมีข้อตกลงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศกว่า 200 แห่งในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และประเทศในอาเซียน อาทิ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยปารีส มหาวิทยาลัยเกียวโต มหาวิทยาลัยซิดนีย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์มหาวิทยาลัยฮานอย เป็นต้น โดยมีขอบเขตความร่วมมือครอบคลุมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (student exchange) การแลกเปลี่ยนอาจารย์และการทำวิจัยร่วม (faculty exchange and research collaboration) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ (knowledge exchange) และการจัดทำโครงการการศึกษาต่างๆตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยคู่สัญญาจะตกลงร่วมกันเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของทั้งสองสถาบันรวมทั้งการจัดทำความตกลงทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ3 อันดับแรกของแต่ละประเทศในประชาคมอาเซียนให้ครบทุกมหาวิทยาลัย
นอกจากความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในนานาประเทศแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังจัดตั้งศูนย์ศึกษาภูมิภาคศึกษาเอเชีย (Area Studies) เช่นศูนย์อาเซียนศึกษา ศูนย์ศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศฯ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ เป็นหน่วยงานที่เน้นการวิจัยการเผยแพร่ความรู้และจัดการฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนการสร้างฐานองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคในลักษณะบูรณาการที่สำคัญ
ความสำเร็จครั้งสำคัญทั้งในด้านการวิจัยและความเป็นนานาชาติที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ความเป็นเลิศทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากลต่อไปในอนาคต