พพ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านพลังงานของประเทศ โดยการเร่งรัด ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ในขณะเดียวกันก็มีการเร่งรัดให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้พลังงานมาก ให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี ของกระทรวงพลังงาน ที่กำหนดให้ประเทศไทยเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 25ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2564 ซึ่งขยะนับเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าวด้วย โดยมี การกำหนดเป้าหมายการผลิตพลังงานในรูปของไฟฟ้าจากขยะชุมชน จำนวน 400เมกะวัตต์ และในรูปความร้อน จำนวน 200 ktoe(พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) เพื่อลดการนำเข้าและลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ
ด้าน นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดำเนินโครงการผลิตเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel: RDF) จากขยะชุมชนใช้ทดแทนถ่านหิน กล่าวว่า ขยะเป็นปัญหา ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หากเรานำขยะมาผลิตเป็นพลังงานได้ก็จะช่วยลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีแนวคิดในการดำเนินโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการกำจัดขยะ ซึ่งวัตถุดิบที่ได้จะมาจากขยะภายในโรงงานและจากชุมชนรอบโรงงานในเขตจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ขยะฝังกลบ (Landfill) และขยะอุตสาหกรรมไม่มีอันตราย (Non-hazardous Industrial Waste)จากโรงงานอุตสาหกรรมและเอกชน นำมาผ่านกระบวนการคัดแยก ย่อย และผลิตเป็น RDF นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินนำเข้า เพื่อเผาวัตถุดิบในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า ขนาด 20 MW ที่ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 60 MW ซึ่งจะเริ่มดำเนินการขายไฟฟ้าเข้าระบบเดือนกรกฎาคม 2558 นี้ของ บริษัทฯ ปัจจุบัน บริษัทฯ รับขยะชุมชนปริมาณวันละ 1,200 ตัน และสามารถที่จะรับปริมาณขยะได้เพิ่มขึ้นถึง 4,500 ตัน เมื่อมีการเดินโรงไฟฟ้า 60 MW ขยะที่เข้ามาจะถูกนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงภายใน 3 ชั่วโมง โดยผ่านกระบวนย่อย คัดแยกโดยเครื่องจักร เพื่อแยกส่วนที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงและทำการปรับปรุงคุณภาพ ให้เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดีส่วนที่เป็นสารอินทรีย์ก็นำมาใช้เป็นวัตถุดินในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน Mechanical Biological Treatment เพื่อแปลงขยะอินทรีย์ให้เป็นเชื้อเพลิง RDFและปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ องค์การป้องครองส่วนท้องถิ่น หรือเอกชนผู้ที่หน้าที่ ในการการกำจัดขยะโดยสนับสนุนความรู้ในการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF และเป็นผู้รับซื้อเชื้อเพลิงดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการจัดการขยะโดยการแปรรูปเป็นพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนพร้อมกับลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในการกองขยะแบบเดิม