นพ. พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ รพ.กรุงเทพ กล่าวถึง สาเหตุของการเจ็บป่วย “โรคปอดอักเสบในเด็ก” ว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่ปอดอักเสบที่รุนแรงมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อก่อโรคไอพีดี เด็กติดเชื้อได้ทั้งจากการสูดหรือสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอหรือโพรงจมูกเข้าไปในหลอดลมส่วนปลาย หรือถุงลมปอด หรือจากเชื้อแพร่กระจายทางกระแสเลือด หลังจากนั้นเชื้อมีการแบ่งตัว ทำลายเนื้อปอด เกิดโรคปอดอักเสบ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์เสียสมดุล ทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนได้ โรคติดเชื้อไอพีดีที่มีอาการรุนแรง คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจึงควรได้รับการป้องกันด้วยวัคซีน ดีกว่าการเป็นแล้วมารักษา เพราะเชื้อไอพีดีมีโอกาสที่จะดื้อยาสูง ซึ่งถ้ารับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจจะคร่าชีวิตลูกน้อยได้ภายในสองวัน อาการของโรคที่แสดงออกมานั้นจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค เด็กที่มีโอกาสป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรืออยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีเด็กจำนวนมาก มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคปอดร่วมด้วย เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้าง
การติดเชื้อไอพีดีชนิดรุนแรง ลุกลาม และแพร่กระจายได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง และการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะปอดอักเสบ สาเหตุที่ทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตนั้น อาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ทราบว่าลูกติดเชื้อไอพีดี เพราะเชื้อชนิดนี้แสดงออกมาเหมือนโรคติดเชื้อทั่วไป พ่อแม่อาจจะมองว่าลูกเป็นไข้หวัดธรรมดา จึงปล่อยปละละเลย หากปล่อยทิ้งไว้หรือไม่รีบรักษาจะทำให้เด็กเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือเกิดภาวะพิการ ปัญญาอ่อนได้
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีแนวทางในการรักษาโรคนี้ แต่การรักษานั้นควรดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเชื้อโรคมีโอกาสที่จะดื้อยาสูง ทางทีดีควรได้รับการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ซึ่งควรฉีดตั้งแต่ยังเล็กโดยช่วงระยะการรับวัคซีนนั้น จะแบ่งช่วงระยะในการรับวัคซีนตามอายุของเด็ก สำหรับเด็กที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีน 1 ครั้ง ในบางรายที่ภูมิต้านทานหลังฉีดลดลง แพทย์อาจพิจารณาฉีดซ้ำหลังจากการฉีดครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบได้แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไอพีดีที่จะเกิดขึ้นในภายหลังและอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อลดลง อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนเชื้อพาหะในโพรงจมูกและลำคอของเด็ก ทำให้ลดการแพร่กระจายเชื้อ นับว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อทางอ้อมสู่คนกลุ่มอื่นอีกด้วย
แนวทางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กที่สามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพดี ได้แก่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดีโดยการล้างมือบ่อยๆ ปิดปากจมูกทุกครั้งที่มีอาการจามหรือไอ หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปสัมผัสผู้ป่วย หรือสถานที่มีเด็กจำนวนมาก เช่น สถานเลี้ยงเด็ก