นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่จะเจริญเติบโตได้ดีและมีจำนวนมากขึ้น ประชาชนมีโอกาสเกิดโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี จึงขอเตือนประชาชนตามประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งประกอบด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์
จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปี 2558 มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 5 โรค รวม 197,504 ราย เสียชีวิต 2 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 175,270 รายเสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 11.48 และอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.15 รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ 21,682 ราย โรคบิด 334 ราย ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์ 217 ราย และโรคอหิวาตกโรค 1 ราย ตามลำดับ
นพ.ศรายุธ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการป้องกันตนเอง ขอให้ประชาชนยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้ออุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน ใช้ช้อนกลางตักอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลรอบๆ บ้านทุกวัน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค
นอกจากนี้ ยังมีโรคที่ต้องระมัดระวัง คือโรคพิษสุนัขบ้าและโรคลมแดด ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี โดยมีสุนัขและแมวเป็นพาหะหลัก อาจติดโรคจากการกัด ข่วน เลีย ผิวหนังคนมีบาดแผล ซึ่งโรคนี้เป็นแล้วเสียชีวิตทุกรายไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัข หรือแมวไปฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้าย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5ย ได้แก่ “ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง ”หากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำหลายๆ ครั้ง แล้วรีบพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครบตามที่แพทย์แนะนำ
ส่วนโรคลมแดด คือ โรคที่เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศา อาการเบื้องต้น คือ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หากรุนแรงอาจมีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้ บุคคลที่เสี่ยงต่อโรคลมแดด คือ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจาการเตรียมความพร้อม ผู้สูงอายุ เด็ก คนดื่มสุราจัด วิธีป้องกันตนเอง ดื่มน้ำวันละ 6 - 8 แก้ว สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" น.พ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย