นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมหารือเชิงนโยบาย เรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทย และกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (ASEAN Intergrated Food Security Framework)” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในระดับนโยบายถึงเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร จะเห็นได้จากการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 - 2559 ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคการเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาและกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2556 – 2559 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน
สำหรับกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2556 – 2559) ต้องการให้คนไทยมีอาหารที่มีคุณภาพเพื่อบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืน ซึ่งมีด้วยกัน 4 ยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดของ FAO เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การผลิตอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืน โดยการเพิ่มศักยภาพการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิต การป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนการลงทุนภาคการเกษตรจากทุกภาคส่วน และการพัฒนาเกษตรกรให้เข้มแข็ง 2) การสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอได้ตลอดเวลา โดยการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตในชุมชน การส่งเสริมระบบการบริการเพื่อสนับสนุนการผลิตและการสร้างรายได้ภายในชุมชน การฟื้นฟูวัฒนธรรมการเก็บสำรองอาหารของครัวเรือน การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเพื่อการกระจายอาหารให้ทั่วถึง การส่งเสริมสวัสดิการและระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม และการสนับสนุนมาตรการป้องกันและรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3) การส่งเสริมการผลิตอาหารคุณภาพดี ลดการสูญเสีย และมีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยการสนับสนุนการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต การส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การลดการสูญเสียของผลผลิตการเกษตร (อาหาร) และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรและการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร และ 4) การรักษาเสถียรภาพการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมการคุ้มครองพื้นที่เกษตร การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ประมง และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การสนับสนุนระบบการจัดสรรที่ดิน และกรรมสิทธิ์ให้แก่เกษตรกร การสนับสนุนการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร และการจัดสรรการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานอย่างเหมาะสม
“ในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการตั้งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อมาดูแลความปลอดภัยด้านอาหารโดยเฉพาะ นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าโดยใช้ระบบ GAP ซึ่งจะเป็นการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ และการประชุมหารือเชิงนโยบายในครั้งนี้ จะเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็น รวมถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยอีกด้วยทางหนึ่ง” นายอภิชาติ กล่าว