“แม้ยอดการซื้อหนังสือต่อคนลดลงบ้าง จากที่เคยซื้อกันคนละประมาณ 5-10 เล่ม เหลือประมาณคนละ 3-6 เล่ม เพราะมีการไตร่ตรองการพิจารณามากขึ้น และจะซื้อเฉพาะเล่มที่ตัวเองต้องการจริงๆ แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าประสบความสำเร็จตามความคาดหมายเมื่อมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมีนักอ่านกว่า 2 ล้านคนเข้าร่วมงาน คนอ่านหนังสือยังคงเหนียวแน่น โดยเฉพาะในช่วง 3วันสุดท้ายที่ทั้งจำนวนนักอ่านและยอดขายหนังสือในหลายสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้นกว่าช่วงแรกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก” นายจรัญกล่าว
โดยนายจรัญเปิดเผยว่าแนวหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างเห็นได้ชัดในงานสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้นั้น นอกจากการ์ตูนและนิยายภาพแล้ว ปีนี้หนังสือแนวความรู้มาแรงมาก โดยเฉพาะสารคดีและประวัติศาสตร์ที่อ่านง่าย
“สาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะคนอ่านหนังสือต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากความบันเทิง เป็นความรู้ที่อยู่นอกเหนือจากตำราในห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งนอกจากหนังสือแล้ว การตอบรับและเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามในนิทรรศการ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” ก็ถือเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความกระหายในความรู้ของสังคมไทย นิทรรศการที่จัดในทุกครั้งถือเป็นความตั้งใจของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯที่จะร่วมติดอาวุธทางปัญญาให้คนทุกรุ่นในสังคมไทย และในฐานะคนทำหนังสือรู้สึกยินดีมากที่สังคมไทยมีแนวโน้มทางการอ่านในทิศทางดังกล่าว”
นายจรัญยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ขณะนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพด้านหนังสือและการอ่าน อาทิ สมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักแปลฯ สมาคมห้องสมุดฯ และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เสนอภาครัฐขอจัดตั้ง “สำนักส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน” เพื่อเตรียมเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป
“ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีองค์กรใดจากภาครัฐที่ดูแลเรื่องการอ่านโดยตรง ทั้งที่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากในการสร้างประเทศ ทุกสมาคมวิชาชีพด้านหนังสือจึงตั้งใจที่จะทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อเสนอไปยังรัฐบาล ให้มีองค์กรที่รับผิดชอบการอ่านอย่างชัดเจนและจริงจังในภาครัฐ ซึ่งต้องขอบพระคุณท่านวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.กระทรวงวัฒนธรรมที่พร้อมจะรับฟังเรา ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างยิ่ง” นายจรัญกล่าว