การทำธุรกิจในปัจจุบันนั้น มีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากสภาพการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เล็งเห็นถึง การฝึกงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ จึงได้เกิดโครงการ CEMP (Creative Entrepreneurial Marketing Project) ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิดและจัดทำผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ในระยะเวลา 7 เดือน หรือ 2 ภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนธุรกิจ การออกแบบสินค้า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการออกสู่ตลาดไปขายตามสถานที่ต่างๆ และจะทำให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทำงานหรือการทำธุรกิจจริงในอนาคต
ดร. สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพและประธานที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการฯ ว่า โครงการ CEMP ได้ดำเนินการ ปีนี้ (พ.ศ.2558) เป็นปีที่ 6 แล้ว พร้อมกับได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดตามนโยบายของมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจให้กับนักศึกษา ดังจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ของทางโครงการ CEMP เป็นผลิตภัณฑ์จากแนวคิด การออกแบบ การทำงานของกลุ่มนักศึกษาภายในโครงการ CEMP โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำการผลิตด้วยตนเองและการติดต่อฝ่ายผลิตกับโรงงานที่มีการรับรองคุณภาพ พร้อมกับได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากทางคณาจารย์ของทางมหาวิทยาลัย ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีคุณภาพและสามารถเชื่อถือได้
สูงสุด สู่สามัญ คือสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ ดังนั้นในศักราชใหม่ครั้งนี้ CEMP GEN#6 ได้พลิกโฉมใหม่ แนวคิดปีนี้เน้นเรื่องความพอเพียง (Sufficiency) ตามพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทำให้เกิดสินค้าจากวัตถุดิบที่หลายคนมองข้ามและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญของประเทศไทย เช่น นาฬิกาโคมไฟที่ผลิตมาจากหญ้าแฝก ถ่านดูดซับกลิ่นจากไม้โกงกาง หมอนอิงที่ใช้เปลือกโซบะ และสินค้าแปลกใหม่มากมายที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และสินค้าที่น่าสนใจอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 12 ผลิตภัณฑ์
Creative Entrepreneurial Marketing Project (CEMP) จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพตอบสนองความเป็น Creative University เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ และจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ และก้าวไกลสู่สากลตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อก้าวเข้าสู่ Creative Industry และ Creative Economy นั่นเอง