กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ออกประกาศใหม่ 3 ฉบับ เพื่อรองรับการจัดตั้ง “กองทุนรวมสึนามิ” เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากเหตุการณ์สึนามิ โดยมุ่งขายเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ขณะนี้ มี บลจ. เอ็มเอฟซี ประเดิมขอจัดตั้งแล้วเป็นรายแรก มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท
ตามที่กระทรวงการคลังมีนโยบายจัดตั้งกองทุนรวม เพื่อระดมเงินไปลงทุนในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้นั้น ในส่วนของ ก.ล.ต. ได้มีการพิจารณาผ่อนผันเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวม เพื่อรองรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวม 3 ฉบับ
สำหรับลักษณะสำคัญของ “กองทุนรวมสึนามิ” ได้แก่
เป็นกองทุนรวมที่เสนอขายเฉพาะแก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (non-retail)
เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากเหตุการณ์สึนามิ
สามารถลงทุนโดยตรง (direct investment) ในกิจการกลุ่มเป้าหมายได้ เนื่องจากอาจมีหลายบริษัทไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สามารถลงทุนในลักษณะสัญญาร่วมลงทุน (private equity) คือ การส่งผู้แทนของกองทุนรวมเข้าร่วมเป็นกรรมการในกิจการที่มีการลงทุน
มีอัตราส่วนการลงทุนแตกต่างจากกองทุนรวมโดยทั่วไป เช่น สามารถลงทุนในหุ้นของบริษัทได้ถึง 100% สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ถึง 100% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) โดยมี company limit ของการลงทุนในแต่ละบริษัทไม่เกิน 25% ของ NAV เป็นต้น
ต้องยื่นคำขอจัดตั้งภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ 26 มกราคม 2548 และต้องจดทะเบียนเป็น กองทุนรวมภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ ก.ล.ต. อนุมัติคำขอจัดตั้ง
ต้องนำเงินทั้งหมดไปลงทุนภายใน 2 ปี นับจากวันจดทะเบียนเป็นกองทุนรวม
ขณะนี้ มีบริษัทจัดการ 1 แห่ง ที่ยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมประเภทนี้ และได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ขอจัดตั้ง “กองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ” โดยมีมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท--จบ--
- พ.ย. ๒๕๖๗ แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech)
- พ.ย. ๓๕๙๐ การประกาศอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “สุขกันเถอะเรา” จากกระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรวงเงิน 100,000 ล้านบาท
- พ.ย. ๒๕๖๗ ธนารักษ์นำร่องย้ายหน่วยงานออกจากบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังพร้อมบริการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการแลกเหรียญในพื้นที่เดิม