ผลงาน ก.ล.ต. 4 ปี บรรลุเป้าหมายการยกระดับตลาดทุนสู่สากล ทุกภาคส่วนเศรษฐกิจไทยได้ใช้ประโยชน์

ศุกร์ ๑๐ เมษายน ๒๐๑๕ ๑๔:๔๒
ก.ล.ต. เผยผลงานการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนตลอดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 - 2558 บรรลุเป้าหมายการยกระดับตลาดทุนไทยสู่สากลในทุกด้าน เพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยมาตรการกำกับดูแลและป้องปรามที่ทันสมัยส่งเสริมให้ทุกภาคเศรษฐกิจใช้ประโยชน์จากตลาดทุน โดยเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับกิจการทุกขนาด และเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนของภูมิภาค

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ร่วม 4 ปี นับตั้งแต่ ตุลาคม 2554 – เมษายน 2558 ก.ล.ต. ขับเคลื่อนตลาดทุนไทยโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับแนวโน้มและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืน สร้างโอกาสให้กิจการและประชาชนเข้าถึงตลอดจนใช้ประโยชน์จากตลาดทุน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ดึงดูดเงินลงทุนจากผู้ลงทุนทั่วโลก

นายวรพลกล่าวว่า การดำเนินงานของ ก.ล.ต. ที่ผ่านมา มุ่งสร้างโอกาสในการเข้าถึงการระดมทุนสำหรับกิจการทุกระดับทั้งขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศผ่านโครงการ “หุ้นใหม่ความภูมิใจของจังหวัด” เกิดหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดทุนไปแล้วกว่า 30 บริษัท และโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านโครงการ “หุ้นนวัตกรรมและสร้างสรรค์ ความภูมิใจของไทย” เพิ่มโอกาสต่อยอดขยายกิจการสำหรับธุรกิจที่มีเทคโนโลยีนวัตกรรม รวมทั้งได้เพิ่มช่องทางใหม่ในการระดมทุนด้วยรูปแบบการเสนอขายหุ้นด้วยวิธี crowdfunding ที่เป็นกระแสการระดมทุนใหม่ของทั่วโลก ตลอดจนเพิ่มช่องทางการระดมทุนของกิจการขนาดกลางและเล็กผ่าน Private Equity Trust อีกด้วย นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังส่งเสริมให้กิจการมีทางเลือกการระดมทุนด้วยเครื่องมืออื่น ๆ เช่น การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ ผ่านโครงการ “หุ้นกู้น้องใหม่ ก้าวแรกที่ก้าวไกล” มุ่งให้บริษัทใช้ตราสารหนี้บริหารต้นทุนการเงินของกิจการ

ที่สำคัญ ก.ล.ต. ได้สร้างกลไกสนับสนุนการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ของประเทศ ลดภาระงบประมาณและการเป็นหนี้สาธารณะ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ท่าอากาศยาน สนามบิน และล่าสุดได้เพิ่มเติมให้รวมถึง ระบบขนส่งทางท่อ ระบบจัดการของเสีย โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และโครงการที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหลายประเภทมารวมกันด้วย

จากแผนกลยุทธ์ที่ ก.ล.ต. ต้องการให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญของประเทศกลุ่ม GMS (GMS Connector)ได้สร้างความสัมพันธ์และช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้เติบโตไปด้วยกัน มีการลงนามเพื่อพัฒนาตลาดทุนระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของ ลาว กัมพูชา เวียดนาม การเป็นเจ้าภาพการประชุม Mekong Capital Market Cooperation (MCMC) ขณะที่ในระดับอาเซียนมีความร่วมมือที่ชัดเจน จนนำไปสู่การมีมาตรฐานกลางของอาเซียนในการเปิดเผยข้อมูล ASEAN Disclosure Standards) และการเสนอขายกองทุนรวมข้ามกัน (ASEAN Collective Investment Scheme Framework) การเข้าร่วมประเมินมาตรฐานธรรมาภิบาล (CG) เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพบริษัทข้ามตลาดและในระดับตลาดทุนของโลก ก.ล.ต. ได้สร้างช่องทางให้ตัวกลางไทยนำสินค้าไปขายในตลาดสำคัญ ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงการลงนามความร่วมมือเพื่อให้กองทุนรวมไทยไปขายในยุโรปได้

นายวรพลกล่าวว่า ในส่วนของการออกหลักเกณฑ์สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่การเป็นศูนย์เชื่อมโยงการระดมทุนในภูมิภาค ก.ล.ต. ได้ดำเนินการดังนี้

(1) สนับสนุนการระดมทุนของกิจการต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกลุ่ม GMS ได้แก่ เกณฑ์รองรับบริษัทต่างประเทศที่มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นแห่งแรก (primary listing) และเกณฑ์รองรับบริษัทต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นอยู่แล้ว และมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (secondary listing)

(2) สร้างกลไกการระดมทุนในไทย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ รวมทั้งประเทศกลุ่ม GMSผ่านทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure trust)

(3) วางกติกาสนับสนุนการสร้างสินทรัพย์ลงทุนในประเทศกลุ่ม GMS (GMS asset class) ผ่านกองทุนรวมไทยที่ลงทุนในประเทศกลุ่ม (GMS) ได้ถึง 100% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน แต่จะต้องกระจายการลงทุนซึ่งยังเป็นการสร้างโอกาสการแข่งขันของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยด้วย

(4) สร้างกลไกอำนวยความสะดวกเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ผ่าน DR หรือ Depositary Receipt ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ การลงทุนผ่าน DR เปิดให้ไปลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ในประเทศกลุ่ม GMS ด้วย

สำหรับความพยายามในการพัฒนากฎเกณฑ์และยกระดับการดำเนินธุรกิจ ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนระหว่าง ก.ล.ต. และผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในโครงการ CEO Forum ส่งเสริมให้มีความสนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลักดันให้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตในโครงการแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทย นำไปสู่ความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในด้านธรรมาภิบาล (CG) โดยได้รับการประเมิน CG ROSC สูงถึง 82.83 จาก 100 คะแนน ขณะที่การประเมิน CG Watch ได้รับคะแนนสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รวมทั้งได้รับการประเมิน ASEAN CG Scorecard 2556/2557 สูงที่สุดจากทั้งหมด 6 ประเทศใน ASEAN ที่เข้ารับการประเมิน

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้พัฒนางานด้านคุณภาพทางบัญชีจนได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก IFIAR หรือ International Forum of Independent Audit Regulator ทำให้ได้รับการยอมรับว่า ก.ล.ต. มีความเป็นอิสระจากผู้ประกอบวิชาชีพ และระบบการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของประเทศไทยสอดคล้องกับแนวทางสากล รวมถึงการได้รับ Recognition จากคณะกรรมาธิการยุโรป ในเรื่องระบบการกำกับดูแลผู้สอบบัญชี ส่งผลให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อถือในระบบการรายงานทางการเงินและคุณภาพผู้สอบบัญชีไทยมากยิ่งขึ้น ในเรื่องการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจและสถาบันตัวกลาง ก.ล.ต. สร้างกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น ปรับปรุงเกณฑ์การเสนอขายสินค้าและบริการ เพิ่มความรับผิดชอบของตัวกลางในการขายสินค้าและบริการให้เหมาะสม ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจโดยออกเกณฑ์กลางรองรับการออกและเสนอขายตราสารใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน เช่น การขยายอัตราส่วน การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ การปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสาร Basel III และการปรับปรุงเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการลงทุนในสินค้าต่างประเทศได้สะดวก นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการรวมตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) กับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อประโยชน์ต่อประเทศในด้านการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) และอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมในตลาดเดียว ครอบคลุมด้านสินค้าและตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ด้านผู้ประกอบธุรกิจ และด้านบุคลากรทางด้านการพัฒนากฎหมาย มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการผลักดันการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ กฎหมายหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil sanction) และองค์กรกำกับดูแลตนเองในตลาดทุน (SRO)การดำเนินคดีแบบกลุ่มในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (class action) การปรับปรุงบทบัญญัติการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ให้มีความเป็นสากล (securitization) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กองทุนและผู้ออมเพื่อเป็นหลักประกันกรณีการออกจากงานและชราภาพ

นายวรพลกล่าวเสริมว่า สิ่งที่สำคัญมากและจะขาดเสียมิได้เลย คือ การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ทั้งในด้านการให้ความรู้แก่ประชาชน และส่งเสริมงานวิจัยเกี่ยวกับตลาดทุน ในส่วนของการให้ความรู้แก่ประชาชนให้มีความรู้ทางการเงินเพื่อชีวิตที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริม ความรู้ด้านการเงินหลายโครงการ พัฒนาสื่อการเรียนรู้บนเว็บไซต์ www.จัดการเงินเป็น.com เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน ทำคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมและการจัดทำโครงการสร้างวินัยให้พนักงานบริษัทจดทะเบียนรู้จักการวางแผนทางการเงิน (FL in workplace)การรณรงค์ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการลงทุนอย่างสม่ำเสมอผ่านโครงการสานฝันเริ่มด้วยพันบาท และที่สำคัญคือ การมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีและพันธมิตรถึง 17 แห่ง ในการดำเนินโครงการเปลี่ยนประเทศไทยให้รุ่งเรือง

ด้วยความรู้ทางการเงิน

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. มุ่งส่งเสริมภาคการศึกษาและการพัฒนางานวิจัยสำหรับตลาดทุน โดยความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดสัมมนา “SEC Working Papers Forum” ทุกเดือน เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และมุ่งนำบทวิจัยไปใช้ได้จริง

“ตลอดระยะเวลาร่วม 4 ปี ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่มีความต่อเนื่อง และครอบคลุมการพัฒนาหลากหลายด้านพร้อม ๆ กัน เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยเป็นที่น่าสนใจในสายตาผู้ลงทุนทั่วโลก เปิดโอกาสให้กับกิจการระดับต่าง ๆ เข้าถึงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง สร้างสินค้าและบริการที่หลากหลายสร้างผู้ลงทุนคุณภาพ รู้จักใช้ประโยชน์จากตลาดทุน ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นในหลักความดีเมื่อตลาดทุนดี จะดึงดูดเงินลงทุน เพราะผู้ลงทุนย่อมเลือกลงทุนในของที่ดี” นายวรพลกล่าวในท้ายที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่