ศ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การวิจัยด้านจีโนมมนุษย์ได้พัฒนาก้าวเข้ามาสู่จุดที่สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์เพื่อการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคต่างๆให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานายบารัก โอบามา ถึงกับกำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการแถลงเปิดสภาฯประจำปี 2558 ในเรื่องการแพทย์แนวใหม่ที่จะมีความแม่นยำสูงนั้น หรือ “การแพทย์แม่นยำ” ที่ต้องอาศัยข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยรวมทั้งญาติสายตรงทั้งจีโนมมาใช้วิเคราะห์เพื่อการรักษา
ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้รับความรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับจีโนมทางการแพทย์ และประโยชน์ของนำไปใช้กับประชากรไทย ทางสำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันจัดทำแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกาถอดรหัสพันธุกกรมดีเอ็นเอบนจีโนมมนุษย์ รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยในโรงพบาบาล แก่ประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าใจได้ โดยง่าย ประกอบด้วยเนื้อหาในรูปแบบภาคเคลื่อนไหวพร้อมเสียงประกอบ มินิเกม และแบบทดสอบวัดความรู้ในลักษณะเกมเสริมการเรียนรู้ โดยประชาชนทั่วไปที่มีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัตการแอนดรอยหรือไอโอเอสสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นจีโนมทางการแพทย์มาศึกษาหาความรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ คีย์เวิร์ดที่ใช้เรียกแอพพริเคชั้นนี้ภาษาไทยใช้ว่า “จีโนมทางการแพทย์” หรือคีย์เวิร์ดภาษาอังกฤษคือ “Medical Genomics” ผ่าน กูเกิล เพลย์ สโตร์ (Google Play Store)หรือ แอปเปิ้ลสโตร์ (Apple Store) มาติดตั้งบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต
สำหรับเนื้อหาจีโนมทางการแพทย์ที่บรรจุในแอพพลิเคชั่น ถูกจัดแบ่งออกเป็นเก้าบทเริ่มตั้งแต่การถอดรหัสพันธุกรรมบนเครื่องถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมรุ่นใหม่ที่ทันสมัย การถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ การถอดรหัสและวิเคราะห์ลำดับเบสเชื้อไวรัสดื้อยา การตรวจวินิจฉัยจีโนมของตัวอ่อนมนุษย์ก่อนการนำไปฝั่งต้วในโพรงมดลูก (เด็กหลอดแก้ว) การตรวจสารพันธุกรรมทั้งจีโนมของทารกในครรภ์จากเลือดมารดา ตรวจกรองทารกแรกเกิดทั้งจีโนมว่ามีการกลายพันธุ์ที่ยีนใดหรือไม่ เพื่อการป้องกัน ดูแล และรักษาได้ทันท่วงทีหลังคลอด เภสัชพันธุศาสตร์กับการตรวจยีนก่อนเพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล การถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยทั้งจีโนมเพื่อสืบค้นว่าโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่เป็นอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ที่ยีนใด สามารถมีวิธีหรือยาใช้รักษาตัวผู้ป่วยเอง หรือป้องกันญาติสายตรงที่ไม่มีอาการมิให้ถ่ายไปสู่รุ่นลูกหลานได้หรือไม่ และท้ายสุดเป็นการถอดรหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งเพื่อเลือกใช้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ
ศ.ดร.วสันต์ กล่าวว่า เนื้อหาในแอพพลิเคชั่นนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้จริงในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โรงเรียนและสถาบันการศึกษาใดที่สนใจในด้านของเนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆในแอพพริเคชั่นสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 02-201-1470 หรือ 081-823-2813