นายอดิศร์ กล่าวว่า เทคนิคหนึ่งที่บริษัทคิดค้นและนำมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงปลาของบริษัทจนประสบความสำเร็จ และต่อยอดสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั่วประเทศ คือ การใช้เครื่องให้อากาศในกระชังปลา ทั้งรูปแบบใบพัดตีน้ำติดตั้งไว้ข้างกระชังปลา หรือระบบเติมอากาศแบบเวนจูรี่ (Venturi Aeration) ที่พ่นน้ำผสมอากาศลงไปในกระชังโดยตรง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับน้ำ ปัจจุบันบริษัทได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำ ทั้งในแม่น้ำ เขื่อน และการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ใช้เครื่องให้อากาศดังกล่าวอย่างแพร่หลาย โดยเทคโนโลยีนี้ซีพีเอฟได้พัฒนาต่อยอดมาจากระบบให้อากาศด้วยเครื่องตีน้ำเพิ่มออกซิเจนในบ่อกุ้ง
“การเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ประกอบกับมีการไหลของน้ำผ่านกระชังดีขึ้น ทำให้การเลี้ยงปลามีประสิทธิภาพมากขึ้น ปลาเติบโตได้ดีขึ้น และมีความต้านทานโรคดี โดยเฉพาะในกรณีที่ปริมาณน้ำลดลงมากซึ่งทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำน้อยลง เกษตรกรยิ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วยการติดตั้งเครื่องให้อากาศในกระชัง ที่จะช่วยลดความเสียหายได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำเปิด อันดับแรกต้องหลีกเลี่ยงการเลี้ยงในแหล่งน้ำตื้น อัตราการไหลของน้ำมีน้อย หรือเป็นจุดตกตะกอน แหล่งน้ำที่ใช้วางกระชังปลาต้องเป็นน้ำสะอาด มีกระแสน้ำไหลดีตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 15 เมตรต่อนาที ไม่ควรวางกระชังในน้ำนิ่ง และต้องเป็นจุดที่มีการตกตะกอนน้อย จากนั้นต้องบริหารจัดการการเลี้ยงด้วยการลดปริมาณปลาที่จะเลี้ยงลงเหลือประมาณร้อยละ 60-70 จากภาวะปกติ เพื่อให้ปลาอยู่สบายไม่แออัดช่วยลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำได้จะลดลง อย่างไรก็ตาม หากผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงปลาในปริมาณเท่ากับที่เคยเลี้ยงในภาวะปกติ ขอแนะนำให้พิจารณาเพิ่มจำนวนกระชังแทน
ส่วนสภาพอากาศร้อนจัดสลับกับมีพายุฤดูร้อนเข้ามาในช่วงนี้ ยิ่งจะเพิ่มความเครียดให้กับปลาและทำให้ปลามีภูมิต้านทานลดลง เกษตรกรจึงควรเพิ่มวิตามินซีให้ปลากินสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคแก่ปลา ควบคู่กับการใช้สารโปรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยควบคุมเชื้อก่อโรคในตัวปลาได้ และควรให้สารเพิ่มภูมิต้านทานคือ เบต้ากลูแคน ที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของปลาช่วยป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียต่างๆได้
ในกรณีที่อากาศร้อนจัดเกษตรกรต้องทำการลดอุณหภูมิของน้ำลง เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่ปลาอาจป่วยจากอากาศร้อนจัดดังได้กล่าวแล้ว สำหรับการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในกระชัง ควรใช้สแลนดำคลุมกระชังปลาหรือบ่อเลี้ยง เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิและลดความเครียดจากแสง (light stress) ที่เกิดจากการถูกแสงแดดจ้าส่องกระทบโดยตรง ซึ่งจะทำให้ปลากินอาหารลดลง โตช้า และป่วยในระยะต่อไป ส่วนการเลี้ยงปลาในบ่อต้องมีการควบคุมคุณภาพน้ำ โดยปรับสภาพให้น้ำลึกไม่ต่ำกว่า 1.8 เมตร ทำความขุ่นใส 40-50 เซนติเมตร ทั้งนี้ น้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะลดลง และปริมาณแพลงค์ตอนจะเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นตัวแย่งใช้ออกซิเจน จึงต้องตรวจวัดออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen : DO) อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเช้ามืด หากปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำได้ต่ำกว่า 5 ppm ต้องควบคุมความขุ่นใสของน้ำที่เกิดจากแพลงตอน ต้องไม่ต่ำกว่า40-50 เซนติเมตร หรือเพิ่มการใช้เครื่องให้อากาศและใช้สารโปรไบโอติกใส่ในบ่ออย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งในส่วนของซีพีเอฟจะแนะนำเกษตรกรไม่ให้ลงเลี้ยงปลา หรือชะลอการเลี้ยงไปสักระยะหนึ่ง เพื่อรอให้มีปริมาณน้ำมากเพียงพอและมีคุณภาพที่เหมาะสม ส่วนกรณีน้ำเสียนั้นแม้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก แต่หากเกษตรกรคอยสังเกตสภาพน้ำอย่างใกล้ชิดจะทำให้สามารถจัดการจำหน่ายปลาในกระชังก่อนที่จะเกิดความเสียหายได้