รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มรภ.สงขลา ได้ประชุมวางแผนการทำงานร่วมกับตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เกี่ยวกับประเด็นยุทธศาสตร์ของ อบจ.สงขลา ที่สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหารแต่ละคณะได้นำเสนอเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนและโครงการที่น่าสนใจ และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแผนพัฒนาของ อบจ.สงขลา ได้ ซึ่งลักษณะกิจกรรมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ อบจ.สงขลา อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา จ.สงขลา ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีการสร้างครูมาอย่างยาวนาน และคณะครุศาสตร์ก็มีแนวคิดที่จะตั้งสถาบันครูมืออาชีพ เพื่อยกระดับ จ.สงขลา เป็นเมืองอารยะ โดยมี มรภ.สงขลา เป็นฐานในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกัน คณะครุฯ ยังมีการเรียนการสอนด้านการศึกษาพิเศษแห่งเดียวในภาคใต้ ซึ่งช่วยให้เด็กพิเศษมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในส่วนของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มีศักยภาพทั้งด้านดนตรีและศิลปะ จึงน่าจะดึงศักยภาพด้านนี้มาใช้ในการทำวงดนตรีเยาวชน จ.สงขลา หรือแม้แต่การทำวงดนตรีสงขลาออร์เคสตรา เพื่อนำสุนทรีย์มาสู่ท้องถิ่น และเพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด มรภ.สงขลา มีความรู้ด้านศิลปะที่โดดเด่นและเป็นสากล สำหรับคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งโดดเด่นด้านสายอาชีพ นักศึกษาของคณะฯ มีการสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือผู้พิการ นอกจากนั้น นายพิเชษฐ์ จันทวี คณบดีของคณะฯ โค้ชทีมฟุตบอลเทศบาลเมืองเขารูปช้าง ยังมีแนวคิดที่จะให้โควตากับนักกีฬาโรงเรียน อบจ. มาเข้าเรียนที่ มรภ.สงขลา เพื่อแก้ปัญหาสมองไหล และสร้างนักกีฬาอาชีพเพื่อเป็นตัวแทนของ จ.สงขลา
อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า ในส่วนของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาอังกฤษ มลายู จีน ญี่ปุ่น น่าจะมีการทำโครงการร่วมกัน เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านภาษาของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเข้าสูประชาคมอาเซียน สอดคล้องกับคณะวิทยาการจัดการ ที่มีการจัดอบรมมัคคุเทศก์ในระดับอินเตอร์และยุวมัคคุเทศก์ด้วย ส่วนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการพัฒนาเด็กที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับ อบจ.สงขลา มาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งยังมีศูนย์แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ที่จะสามารถช่วยในส่วนของศูนย์บริบาลผู้สูงอายุของ อบจ.สงขลาได้ ประการสำคัญมรภ.สงขลา กำลังจะมีหอดูดาว 1 ใน 5 ของภูมิภาค ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายและเป็นความภูมิใจของคนสงขลา ที่จะเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญในอนาคต สำหรับคณะเทคโนโลยีการเกษตร มีการทำเกษตรเคลื่อนที่ไปยังชุมชนเพื่อบริการวิชาการ ขณะนี้มีการวิจัยข้าวพื้นเมืองอย่างข้าวเหนียวดำ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก และน่าจะสามารถตอบโจทย์ที่ อบจ.สงขลา ต้องการได้ตรงกัน อีกเรื่องคือ การทำศูนย์เรียนรู้เกษตรที่บ้านประกอบ อ.นาทวี ซึ่งหาก จ.สงขลา มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ คนก็จะหลั่งไหลเข้ามา และเมื่อเรามีรากฐานทางการเกษตรที่ดี ก็จะช่วยลดต้นทุนในหลาย ๆ ด้าน เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเกษตรกรและประชาชนทั่วไปด้วย