สังคมไทยถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และหากเราจะต้องนึกถึงเขตอภัยทานพวกเราก็จะเข้าใจตรงกันได้ว่าเป็นพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำ แต่ในปัจจุบันเขตพื้นที่อภัยทานกลับกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มคนบางกลุ่มในการวางข่ายจับปลาจนทำให้จำนวนสัตว์น้ำในเขตอภัยทานลดน้อยลงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เชิงวัฒนธรรมและทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้เกี่ยวข้องในบางพื้นที่
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหน้าวัดหรือศาสนสถานนั้นกรมประมงได้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์ปลาหน้าวัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัดหรือศาสนสถานที่ติดกับแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำเปิดและแหล่งน้ำปิด โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดให้มีเขตพื้นที่อภัยทานหรือเขตที่รักษาพืชพันธุ์ ก็เพื่อที่จะให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งต้นทุนพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเพื่อผลิตทรัพยากรประมงที่สำคัญประจำแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูปลามีไข่พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำบางชนิดจะเคลื่อนย้ายไปผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณต้นน้ำผลิตลูกปลาวัยอ่อนเป็นจำนวนมากคืนสู่แหล่งน้ำ ดังนั้นการรักษาแหล่งพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำหรือธนาคารพ่อแม่พันธุ์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงความหลากหลายและคงความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ
การอนุรักษ์ปลาหน้าวัดนั้น เป็นมาตรการที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. 2490 มาตรา 7 มาตรา 8 ได้กำหนดให้บางพื้นที่เป็นที่ห้ามจับสัตว์น้ำซึ่งตามกฎหมายประมงจะเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “ที่รักษาพืชพันธุ์” การกำหนดให้เป็นที่รักษาพืชพันธุ์ได้นั้นจะต้องอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการออกคำสั่งจังหวัดประกาศกำหนดพื้นที่รักษาพืชพันธุ์ของแต่ละจังหวัด สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 9 วรรคแรก ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง นอกจากนี้ยังมีมาตรการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือของคนในชุมชนในการช่วยกันควบคุมกำกับ รวมถึงการใช้กติกาของชุมชนเพื่อร่วมกันคุ้มครองปลาหน้าวัด
และถึงแม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและทำประมงในที่รักษาพืชพันธุ์อยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมในการดูแล เฝ้าระวังและเคารพต่อกติกาของสังคมและกฎหมายควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามกิจกรรมต่างๆด้านการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมถึงการบำรุงรักษาและฟื้นฟูรระบบนิเวศของแหล่งน้ำให้มีความเหมาะสมในการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ
กรมประมง โดยกองบริหารจัดการด้านการประมง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสัตว์น้ำบริเวณที่รักษาพืชพันธุ์บริเวณหน้าวัดต่างๆ จึงได้จัดทำโครงการ “เด็กวัดอาสารักษ์ปลาหน้าวัด” ขึ้น โดยจะเริ่มนำร่องวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 60 วัด จาก 457 วัด เริ่มตั้งแต่จังหวัดกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาจ โดยโครงการนี้จะสร้างกลุ่มเยาวชนเด็กวัดและเยาวชนรอบๆ วัด รุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยจะปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนได้รู้จักการหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำใขเขตที่รักษาพืชพันธุ์บริเวณหน้าวัดที่ตนเองอาศัยอยู่ และนำความรู้ที่ได้ศึกษาไปบอกกล่าวกับผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพประมงและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวประมงในท้องถิ่นได้ทราบถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ปลาหน้าวัด รวมถึงการให้ความร่วมมือและงดเว้นการลักลอบจับสัตว์น้ำบริเวณหน้าวัด เพื่อที่จะให้มีสัตว์น้ำใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งต่อไปในอนาคตหากเด็กวัดอาสาสามารถเป็นเครือข่ายที่ช่วยสอดส่องดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ให้อุดมสมบูรณ์ เด็กวัดอาสาเหล่านี้จะเครือข่ายสำคัญในการที่จะช่วยดูแลสัตว์น้ำในพื้นที่ รวมถึงจะเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมวัดเพื่อสร้างวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดนั้นได้อีกด้วย
สำหรับการเปิดโครงการฯ ในวันนี้ นอกจากการเข้ารับมอบชุดปฏิบัติการและปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ของเหล่าเด็กวัดอาสาแล้ว กรมประมงได้มีการจัดบรรยายในหัวข้อต่างๆ เพื่อเป็นการปรับพื้นฐานความรู้และสร้างทัศนคติที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและทัศนคติการดำรงชีวิต อาทิ หัวข้อความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ บทบาทหน้าที่ของเด็กวัดอาสารักษ์ปลาหน้าวัด ความสำคัญและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บริเวณแหล่งสัตว์น้ำหน้าวัด วิชาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำและการสังเกตุสัตว์น้ำมีอาการผิดปกติ ฯลฯ นอกจากนี้ทางกรมประมงได้เตรียมเรือตรวจการประมงนำเด็กวัดอาสาลงเรือเพื่อดูระบบนิเวศของพื้นที่โดยรอบแหล่งที่อาศัย เพื่อเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ รวมถึงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งในวันนี้กรมประมงได้เตรียมพันธุ์สัตว์น้ำจืดจำนวน 100,000ตัว ให้กับผู้ร่วมงานได้ปล่อยเพื่อเป็นฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แล้วนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ร่วมงานได้รับทราบว่า สัตว์น้ำในวันนี้ถึงแม้กรมประมงจะเป็นผู้จัดเตรียมมา แต่หากเมื่อพวกเราได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งน้ำสาธารณะเรียบร้อยร้อย สัตว์น้ำเหล่านั้นไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทว่าสัตว์น้ำเหล่านั้นจะตกเป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบต่อไป