ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชน “ข้อมูล” ถือเป็นปัจจัยสำคัญ และ “การสื่อสาร” ก็เปรียบได้กับ “อาวุธ” ชิ้นเอกที่จะส่งผลให้งานสำเร็จหรือไม่…การทำงานจิตอาสาเพื่อบ้านเกิดของน้องๆ 21 กลุ่มเยาวชนหัวใจสีเขียวจากทั่วประเทศในโครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” ปี 3 ดำเนินการโดยมูลนิธิกองทุนไทย ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็เช่นกัน ที่ด้วยประสบการณ์ยังน้อยทำให้พวกเขาขาดความรู้ความชำนาญในด้านนี้ และเป็นที่มาของค่ายอบรมเสริมทักษะครั้งล่าสุด เพื่อช่วยเติมทักษะให้น้องๆ นำกลับไปทำงานกับชุมชนอย่างได้ผล
รัตนติกา เพชรทองมา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ โครงการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน มูลนิธิกองทุนไทย ในฐานะแม่งานเล่าว่า ในปีที่ 3 นี้ โครงการฯ ได้เลือกประเด็นการเสริมทักษะจากข้อค้นพบการติดตามลงพื้นที่ พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการเก็บข้อมูล ถามคำถามอย่างไรไม่ให้เป็นการชี้นำ ถามอย่างไรให้ได้ข้อมูลถูกต้อง เพียงพอ และสามารถมองเห็นวิธีการทำงานต่อไปได้ เพื่อให้การทำงานของเยาวชนตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของชุมชนได้จริง ส่วนการเติมทักษะการสื่อสารก็จะเป็นตัวช่วยให้เยาวชนสื่อสารความเป็นไปของปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ และดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
สำหรับไฮไลต์สำคัญของเวิร์คช็อปครั้งนี้อยู่ที่การลงชุมชนต้นแบบเพื่อเป็น “แบบฝึกหัด” การเก็บข้อมูลในสถานการณ์จริง พร้อมๆ กับการพาไปเห็นตัวอย่างและรับแรงบันดาลใจจากชุมชนต้นแบบ โดยมีพี่เลี้ยงโครงการฯ ช่วยเติมความรู้เรื่องการเก็บข้อมูล การวางแผน การตั้งคำถาม และการแบ่งบทบาทหน้าที่กันไว้ล่วงหน้า
ชุมชนต้นแบบที่เยาวชนแบ่งกลุ่มเข้าไปเรียนรู้ มี 3 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กับการจัดการขยะโดยชุมชนเพื่อชุมชน มองขยะเป็นเงินที่ร้านศูนย์บาท ชุมชนคลองจินดา กับการปรับตัวสู่การทำการเกษตรปลอดภัย ไร้สารเคมี รับมือโลกร้อน ของชุมชนชาวสวนอำเภอสามพราน จ.นครปฐม และ HiP Incy Farm (ฮิพ อินซี ฟาร์ม) สวนผักพอเพียงใจกลางกรุงของอดีตนักร้องนำวง P2Warship (พีทูวอร์ชิพ) ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนสนามฟุตบอลขนาดหนึ่งไร่ให้กลายเป็นสวนผักนานาชนิด
เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว พอถึงเวลาลงชุมชน น้องๆ แต่ละกลุ่มที่มีการแบ่งหน้าที่กันไว้แล้วจึงกุลีกุจอเก็บข้อมูลกันอย่างตั้งใจ แม้อากาศจะร้อนไปบ้าง แต่ทุกคนก็สู้ไม่ถอย ทั้งจดลงสมุด บันทึกเสียง ถ่ายภาพและอัดคลิปวิดีโอ เมื่อเสร็จสิ้นจากการลงชุมชนต้นแบบ ทั้งหมดจึงนำข้อมูลที่ได้มานำเสนอให้เพื่อนกลุ่มอื่นได้ชม แต่ก็เห็นได้ชัดว่าวิธีการสื่อสารของน้องๆ ยังเป็นการเล่าประกอบฟลิบชาร์ต ข้อมูลที่สื่อสารยังสะเปะสะปะ กระจัดกระจาย ขาดพลังดูไม่น่าสนใจ พี่เลี้ยงโครงการฯ ซึ่งคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าจึงเติมทักษะ “การสื่อสาร” ให้น้องๆ ทันที ได้แก่ การทำโปสเตอร์/อินโฟกราฟิก การละคร และการพูดในที่สาธารณะ จากนั้นจึงมอบหมายให้น้องๆ นำทักษะใหม่เหล่านี้กลับไปสร้างสรรค์สื่อแล้วกลับมานำเสนอข้อมูลใหม่อีกรอบภายใต้โจทย์ “จำลอง” การจัดเวทีหมู่บ้านเพื่อนำเสนอข้อมูลแก่ชาวชุมชน ทำให้เกิดเป็นมหกรรมขนาดย่อมภายในค่ายที่น้องๆ ได้ฝึกคิด ฝึกสื่อสาร มีสาระและความบันเทิงไปพร้อมๆ กัน
ภายหลังเวิร์คช็อปตลอด 4 วัน น้องป๊อป นายสิงหรัตน์ ใจคา กลุ่มเยาวชนแม่พริกฮักดี โรงเรียนแม่พริกวิทยา จ.ลำปาง บอกว่า มาค่ายครั้งนี้ทำให้เขาได้รับความรู้และทักษะการเก็บข้อมูลกลับไปหลายอย่าง จากเดิมจะเก็บข้อมูลเรื่องไหนก็เตรียมคำถามแล้วไปถามเจาะเรื่องนั้นเลย หากเจอคนพูดไม่เก่ง ถามคำตอบคำ พอหมดคำถามที่เตรียมไว้ก็ไปต่อไม่ได้ ไม่รู้จะถามอย่างไรให้ได้คำตอบเชิงลึก มาค่ายนี้พี่ๆ จึงได้สอนวิธีตั้งคำถาม ถามอย่างไรให้ได้คำตอบที่ต้องการ บางเรื่องไม่ควรถามตรงๆ ก็อาจใช้คำถามอ้อมๆ คำถามบางอย่างถามครั้งเดียวแต่เราได้คำตอบหลายอย่าง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักสังเกต ทำอย่างไรคนถูกถามจะรู้สึกสบายใจที่จะตอบ ที่สำคัญเมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ไม่ได้เอามาใช้เลย แต่ต้องวิเคราะห์ประมวลผล หากพบว่ามีจุดไหนยังไม่ชัดก็ต้องกลับไปถามใหม่
น้องมิ้นท์ นางสาวอมรรัตน์ สิงห์สา กลุ่มเยาวชนกล้าดีตำบลโสกนกเต็น จ.ขอนแก่น บอกว่า จากบทบาทในกลุ่มที่เป็นพี่โตก็จะเป็นคนพูดคนสื่อสารกับชุมชนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบางจุดที่ทำได้ไม่ดีนัก เช่นแต่เดิมเวลาเข้าไปขอข้อมูลชุมชนก็จะเริ่มด้วยการแนะนำตัว แนะนำกลุ่มว่าเราเป็นใคร แต่ไม่ได้บอกวัตถุประสงค์ว่าเรากำลังทำอะไร มาเก็บข้อมูลไปแล้วจะเอาไปทำอะไร จุดนี้อาจจะทำให้เขาไม่เข้าใจ เป็นอุปสรรคทำให้เราได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน การเสริมทักษะครั้งนี้ทำให้เห็นจุดบกพร่องที่สามารถนำกลับไปแก้ไขได้
"มาค่ายครั้งนี้ทำให้หนูชัดเจนมากขึ้น ในด้านการเก็บข้อมูล เราจะต้องเตรียมตัวก่อนว่าเรามีเป้าหมายอะไร คำถามที่เราจะถามก็ต้องตรงกับเป้าหมายที่เราวางไว้ ส่วนเรื่องการสื่อสาร เราต้องสื่อสารให้ตรงกับผู้ฟัง เวลาเราจะพูดให้เขาฟัง เราต้องเรียงลำดับเนื้อหาให้เขาฟังว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ทำไม ถ้าไม่เตรียมตัวแล้วพูดกลับไปกลับมาแบบที่เป็นอยู่ เราก็จะไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจเราได้" น้องมิ้นท์สะท้อน
ส่วน น้องคอมพ์ ชัชวาล ขนาดขจี กลุ่มเยาวชนละอ่อนอาสาพัฒนาสังคม โรงเรียนทาขุมเงินวิทยาคาร จ.ลำพูน เสริมว่านอกจากได้ความรู้จากพี่เลี้ยงโครงการฯ และได้ฝึกฝนทักษะกับชุมชนต้นแบบแล้ว ส่วนตัวยังได้ข้อคิดดีๆ จากการจำลองการจัดเวทีหมู่บ้านเพื่อคืนข้อมูลให้ชุมชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเรามักลืมถามคนในชุมชนว่าข้อมูลที่เรานำไปให้เป็นข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของเขาหรือไม่ และข้อมูลที่เราให้มีปริมาณมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า
"มันเหมือนกับที่พี่คนหนึ่งที่สมมติตัวเองเป็นชาวบ้านเขาสะท้อนว่าเราอัดข้อมูลให้เขามากเกินไปนะ เราน่าจะถามเขา และน่าจะแลกเปลี่ยนกับเขาว่าชุมชนของเขาทำอะไร ธงของชุมชนของเขาคืออะไร เราจะได้นำมาปรับกับของเรา จุดนี้ผมก็จะนำไปปรับกับการทำโครงการของตัวเองที่ชุมชนด้วย" น้องคอมพ์สะท้อนปิดท้าย
เชื่อว่าเมื่อน้องๆ ได้ความรู้ เครื่องมือ และวิธีการทำงานเก็บข้อมูลและการสื่อสารในครั้งนี้แล้ว น้องๆ จะนำกลับไปปรับใช้กับการทำโครงการให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่วางเป้าหมายไว้ ก่อนที่จะกลับมาพบกันอีกครั้งในค่ายเวิร์คช็อปครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย.2558 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการครั้งสุดท้ายก่อนปิดโครงการในราวเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ นี่คือระหว่างทางการพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพในการลุกขึ้นมาดูแลบ้านตนเอง