ประเด็นแรก ประชาชนเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนมากที่สุด ( ร้อยละ 70.0) นายกรัฐมนตรีควรดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกันและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ( ร้อยละ 42.2 ) และวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่เหมาะสม คือ 4 ปีต่อสมัย (ร้อยละ 70.5 ) ส่วนสมาชิกวุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ( ร้อยละ 55.2 ) ประเด็นที่สอง การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยประชาชนเห็นว่าให้มีการศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน มากที่สุดถึง (ร้อยละ 92. 8 ) ประเด็นที่สาม ลักษณะของประชาธิปไตยกินได้ อยากให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของปวงชนชาวไทยร่วมกับรัฐ รัฐทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและของรัฐร่วมกัน ( ร้อยละ 35.6 ) จากข้อสังเกตการศึกษากลุ่มประชาชน พบว่า การปฏิรูปประเทศไทยต้องแก้ปัญหาในทุกๆเรื่องต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนในการบริหารประเทศ เพื่อที่จะได้บุคคลที่มีคุณภาพมีความรู้ความสามารถยึดหลักธรรมาภิบาลและควรมีกฎหมายที่ชัดเจนควบคุมการทุจริต คอรัปชั่นในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อควบคุมดูแลการบริหารงบประมาณของรัฐให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง อีกทั้งการพัฒนาประชาธิปไตยต้องให้ความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันยังมีการซื้อเสียงของนักการเมือง ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน จนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องหาทางแก้ไขไม่ให้มีการซื้อเสียง มิฉะนั้นบ้านเมืองก็จะเหมือนกับสภาพปัจจุบัน
นอกจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย สภาพัฒนาการเมืองยังได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอต่อไป ภายใต้หัวข้อ “จากชุมชนสู่รัฐธรรมนูญ” ผ่านคณะทำงานเครือข่ายประชาสังคมระดับจังหวัด ( คปจ. ) ของสภาพัฒนาการเมือง โดยมีหัวข้อ ได้แก่ 1. ประชาธิปไตยกินได้ 2. สภาพลเมือง 3. การให้การศึกษาทางการเมือง( Civic Education) และ 4. โครงสร้างทางการเมือง ซึ่งจัดขึ้น 29 จังหวัด ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดสรุปดังต่อไปนี้
1. ประชาธิปไตยกินได้คือ การกำหนดนโยบายต่างๆ ควรจะมีพื้นฐานมาจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของผู้กำหนดนโยบาย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ต้องการให้รัฐคืนอำนาจให้แก่ประชาชน
2. สภาพลเมือง ให้มีสภาพลเมืองในทุกระดับ คือสภาพลเมืองระดับชาติ สภาพลเมืองระดับจังหวัด สภาพลเมืองระดับอำเภอ สภาพลเมืองระดับตำบล และสภาพลเมืองระดับหมู่บ้าน โดยมีหน้าที่เป็นกลไกที่สำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ส่งเสริมความเข้มแข็งทางการเมืองภาคพลเมือง
3. การให้การศึกษาทางการเมือง ( Civic Education) โดยจัดทำเป็นหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในทุกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและท้องถิ่น
4. โครงสร้างทางการเมือง โดยมติของประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้มีการเลือกตั้งโดยตรง โดยให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง