นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึง การจัดงาน “วันวานนี้....ที่วินยานุโยค” ว่ารู้สึกดีใจที่ชาวตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ขานรับกิจกรรมดี ๆ ที่ อพท. และสถาบันอาศรมศิลป์จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจ กระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนแถวไม้วินยานุโยค ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนสองฝั่งถนนวินยานุโยค ประกอบด้วย ชุมชนศรีสรรเพชญ์พัฒนา ชุมชนต้นแจงพัฒนาและชุมชนสมถวิลพัฒนา รวมทั้งสร้างภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน อาทิ เทศบาลตำบลอู่ทอง ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดี อู่ทอง ตลอดจนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ด้วยการประเดิมจัด “ถนนคนเดินวินยานุโยค” เป็นครั้งแรก
สำหรับวิธีการสร้างความเข้าใจและกระตุ้นจิตสำนึกของคนในชุมชน อพท. ได้ประชาสัมพันธ์ให้คนในตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นำภาพถ่ายเก่ามาเป็นแกนกลางในการสื่อความหมาย ผ่านการจัด “นิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่อง” รวมทั้งเปิดโอกาสให้ร้านค้านำอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนสินค้าที่ระลึกมาจำหน่ายในงาน เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนสองฝั่งถนนวินยานุโยค เทศบาลตำบลอู่ทอง รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดี อู่ทอง ร่วมมือกันในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเดินทางมาท่องเที่ยวในอนาคต มีการเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้มาอธิบายภาพเก่าเล่าเรื่องให้ฟัง และยังเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนแสดงความสามารถทางดนตรีรวมทั้งเป็นนักข่าวเยาวชนในการลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนถึงเรื่องเล่าและตำนานในท้องถิ่นตำบลอู่ทอง
ซึ่งการจัดงานวันวานนี้....ที่วินยานุโยค จึงถือเป็นกิจกรรมแรกที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วน เริ่มปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนา “แหล่งท่องเที่ยวถนนคนเดินสายวัฒนธรรมวินยานุโยค” รวมทั้งค้นหา แนวทางในการอนุรักษ์อาคารแถวไม้วินยานุโยคสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในลักษณะร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติและร่วมรับผลประโยชน์ (Co-Creation) โดยกิจกรรมต่อไปที่จะดำเนินการคือ กิจกรรมหน้าบ้านน่ามองและในบ้านน่าอยู่ โดยสถาบันอาศรมศิลป์จะพานักศึกษาปริญญาโทจาก ๔ สถาบันมาเขียนเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กิจกรรมหน้าบ้านน่ามอง กิจกรรมการจัดเวทีประชาคมเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นและสรุปมติที่ประชุมร่วมกัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้กำหนดและตกลงแนวทางการอนุรักษ์อาคารแถวไม้วินยานุโยคอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
อาจารย์ธิป ศรีสกุลไชยรัก อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิตเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า สถาบันอาศรมศิลป์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ให้ความสำคัญต่อการผลิตบุคลากรด้านสถาปนิกชุมชน ที่เน้นให้สถาปนิกชุมชนออกแบบบ้านและอาคารที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของชีวิตสภาพแวดล้อมและชุมชนนั้น ๆ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ เน้นการออกแบบมุ่งเน้นวิธีการเรียนรู้บนการทำงานจริงและโจทย์ปัญหาจริง โดยนักศึกษาปริญญาโทจะได้เรียนรู้การทำโปรเจกต์กับคณาจารย์ร่วมกับชาวชุมชน “ผู้อำนวยการให้เกิดความรู้” ครูที่แท้จริงคือ ปัญหาของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ดังนั้น สถาปนิกชุมชนจะต้องคลุกคลีกับชาวบ้าน เพื่อสร้างความไว้วางใจ เรียนรู้สภาพแวดล้อมและร่วมมือทะลายกำแพงท่าทีของคนในชุมชนให้ร่วมมือกันทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้เกิดการพูดคุยกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
การที่สถาบันอาศรมศิลป์ จับมือกับ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.๗) ในครั้งนี้ จึงต้องการสืบค้นความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในชุมชนว่าต้องการรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมให้คงอยู่และนำมาพัฒนาคุณค่าผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์อาคารแถวไม้วินยานุโยค ผลผลิตที่ได้จากกิจกรรมคือ มีการจัดนิทรรศการคุณค่าของชุมชนด้วยการนำภาพถ่ายเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวและสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชน มีการจัดทำภาพเขียนแบบบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernadoc) ซึ่งภาพเขียนแบบดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นแบรนด์สินค้าที่ระลึก ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของวินยานุโยค มีการจัดทำหุ่นจำลองทัศนียภาพเพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการมีส่วนร่วมและมีการจัดทำเอกสารแนวทางในการออกแบบและอนุรักษ์อาคารแถวไม้วินยานุโยคเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินการอนุรักษ์ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีประเด็นใกล้เคียงกันในเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง
นายรัชชัย วัฒนไกร นายกเทศมนตรีตำบลอู่ทอง กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การจัดงานวันวานนี้...ที่วินยานุโยค ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งเทศบาลตำบลอู่ทองกับชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลอู่ทองจะขอให้ อพท.ช่วยเป็นพี่เลี้ยงต่อสักระยะหนึ่งเพื่อให้ถนนคนเดินสามารถผลักดันต่อไปได้อย่างยั่งยืน