นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรม “ใต้ร่มพระบารมี 233 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญในการผลักดันให้นโยบาย การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐบาลให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ โดยเป็นการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของประเทศในการสร้างให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความปรองดองของประชาชนคนไทย และประการสำคัญคือ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงของประเทศ รวมถึงพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชกาลที่ทรงปกป้องคุ้มครองประเทศไทยให้ธำรงอยู่ได้
สำหรับในวันที่ 18 เมษายน 2558 มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ริ้วขบวน “ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” นำเสนอเหตุการณ์สำคัญ ความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรม ในแต่ละรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ ทั้ง 9 รัชกาล หัวขบวนจะเริ่มตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ถึงท้องสนามหลวง โดยมีนักแสดงกว่า 2 พันคน ความยาวกว่า 1.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยขบวน ดังนี้
- ขบวนเปิด นพรัช รัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย การสวนสนาม วงดุริยางค์ ขบวนอัญเชิญ พระบรมสาทิสลักษณ์ 9 รัชกาล ขบวนรถโบราณ และธง 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- ขบวนรัชกาลที่ 1 : ขบวนสร้างบ้านสร้างเมือง ประกอบด้วย สงคราม 9 ทัพ การจัดทัพ ครั้งยิ่งใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รถขบวนอัญเชิญพระศรีศากยมุนี เพื่อมาสถิตใจกลางเมืองเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจแห่งราชธานีใหม่
- ขบวนรัชกาลที่ 2 : ฟูเฟื่องวรรณกรรม ประกอบด้วย รถขบวนยุคทองของวรรณคดีไทย ผ่านการแสดงโขน รามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฐ์ ลักนางสีดาต่อเนื่องจากยกรบ
- ขบวนรัชกาลที่ 3 : เลิศล้ำเศรษฐกิจ ประกอบด้วย รถขบวนสำเภาจีนจำลอง พร้อมการแสดง ชุดลอดลายมังกร ยุครุ่งเรืองแห่งสัมพันธไมตรีสู่การค้าที่มั่งคั่งของชาวจีนและชาวไทย
- ขบวน รัชกาลที่ 4 : แนวคิดอารยะ ประกอบด้วย รถขบวนที่แสดงถึงพระอัจฉรียภาพด้านวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ จนได้รับยกย่องเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ การแสดงแสงพระปรีชาแห่งดาว การแสดงแสงสีเสียง สื่อผสม และยิมนาสติก
- ขบวน รัชกาลที่ 5 : วัฒนะสู่สากล ประกอบด้วย รถขบวนรถไฟจำลองที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านการคมนาคม ขนส่ง และระบบสาธารณูปโภค การแสดงชุมทางสยามเพอคัสซัน ที่สื่อถึงการ ร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างทางรถไฟสายแรกแห่งประเทศไทย
- ขบวน รัชกาลที่ 6 : มากล้นการศึกษา ประกอบด้วย รถขบวนที่สื่อถึงความเจริญด้านการศึกษา การก่อกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแสดงกองกำลังลูกเสือไทยสร้างความตระการกับการแสดงชุมพลลูกเสือไทย ผู้ร่วมขบวนที่สื่อถึงการปฏิรูประบบแพทย์ พยาบาล การก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- ขบวน รัชกาลที่ 7 : ประชาธิปไตย ประกอบด้วย รถขบวนที่สื่อถึงการปฏิรูปการเมือง การปกครอง การแสดงชุดโหมโรง โดยการประชันระนาด ระดับฝีมือกลางถนนราชดำเนิน
- ขบวน รัชกาลที่ 8 : นำไทยสามัคคี ประกอบด้วย รถขบวนสยามสนุกที่สื่อถึงความสุข ความรื่นเริง ความดีใจของพสกนิกรหลังจากการกลับมาสยามประเทศของรัชกาลที่ 8 และพระราชกรณียกิจในการเสด็จประพาสสำเพ็งทำให้ระงับเหตุความรุนแรงระหว่างชาวไทยและชาวจีน ช่วยทำให้สัมพันธภาพระหว่าง 2 เชื้อชาติกลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง การแสดงลีลาศ ประกอบเพลงของสุนทราภรณ์
- ขบวน รัชกาลที่ 9 : บารมีพระเหนือเกล้าฯ ประกอบด้วย รถขบวนเศรษฐกิจพอเพียง และการแสดง “รำหรอย เริงรื่น ม่วนซื่น โฮแซว” ที่แสดงวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลองการแสดงพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคบนถนนราชดำเนิน
ที่สำคัญ ในพิธีเปิดงานฯ กระทรวงวัฒนธรรมได้เรียนเชิญคณะทูตานุทูตประจำประเทศไทย เข้าร่วมงาน โดยมีการแสดงนาฎศิลป์ “อาเศียรวาทราชสดุดี” และการ“รำแว่นเทียนมหามงคลสมโภช” ซึ่งเป็นการแสดงอันทรงคุณค่าและหาชมได้ยาก เนื่องจากได้เคยมีการรำถวายสดุดีต่อหน้าพระพักตร์องค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี นอกจากนี้ ยังมีการแสดงรวมนักแสดง : เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม และร่วมชมนิทรรศการ “ภาพเก่าเล่าเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์” และการสาธิตและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม (CPOT) อีกด้วย
ด้านศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวว่า ตลอดการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรม “ใต้ร่มพระบารมี 233 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ตั้งแต่วันที่ 17-21 เมษายน 2558 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ผู้เข้าร่วมงานจะได้ชมการละเล่นของหลวง ที่มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิ โมงครุ่ม หรือมงครุ่ม เป็นการรำประกอบการตีกลอง ผู้เล่นมือถือไม้พดมีกลองประกอบการเล่น กลุ่มหนึ่งมีกลองโมงครุ่ม 1 ใบ อยู่ตรงกลางด้านหน้ามี ผู้เล่น 1 คน มายืนตรงหน้าคอยตีโหม่งบอกท่าทางให้ผู้เล่น กุลาตีไม้ เป็นการร้องเพลงประกอบการตีไม้แทง การจัดแสดง กระตั้วแทงเสือ เป็นการละเล่นที่เลียนแบบมาจาก กระอั้วแทงควาย โดยเนื้อแสดงถึง นายพรานได้ต่อสู้กับเสือที่ออกมาสร้างวุ่นวายในเมือง และแทงเสือตาย เจ้าเมืองจึงได้มอบรางวัลให้
การสาธิต และการทำอาหาร เช่น ขนมกุฎีจีน ข้าวโพดคั่ว และข้าวแช่ การเล่นว่าว เป็นการจัดการแสดงว่าวจุฬาและปักเป้าต่อสู้กัน มีการบรรเลงปี่พาทย์เพลงเชิด กราวรำ และโอด รวมถึงการแสดงว่าวนานาชาติและว่าวไฟฟ้า กว่า 233 ตัว อีกทั้งมีการจัดสาธิตและในผู้ร่วมงานทำว่าวจากกระดาษเปเปอร์มาเช่ การเล่นตระกร้อลอดห่วง โดยมีการจัดการแข่งขันตระกร้อกว่า 30 ทีม ชิงถ้วยรางวัลของนายกรัฐมนตรี
การสาธิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย (CPOT) ที่เป็นสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจและการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มพูนรายได้ในกับประชาชนและชุมชน จากทั่วประเทศ การแสดงทางวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงลีลาศ และการแสดงมหกรรมรำวงจำนวนคู่มากที่สุด ในวันที่ 19 เมษายน 2558 เวลา 19.00 น. และการแสดงมหกรรมโขนชุดใหญ่ที่สุดในโลก ในวันที่ 21 เมษายน 2558 เวลา 20.00 น. การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง อมตะนครอมรรัตนโกสินทร์ การไหว้พระ 9 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 9 รัชกาล เพื่อให้ประชาชนได้น้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ การประกวดกุลสตรีศรีรัตนโกสินทร์ เพื่อแสดงถึงความงดงามและงามอย่างมีคุณค่าของกุลสตรีไทย และทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น โดยจะมีการประกวดในวันที่ 20 เมษายน 2558 เวลา 18.00 น.
การจัดนิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องรัตนโกสินทร์ แสดงถึงเหตุการณ์สำคัญและวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ คือ รัชกาลที่ 1 การสร้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร รัชกาลที่ 2 ยุคทองของวรรณคดี รัชกาลที่ 3 การอุปถัมป์พระศาสนา การบูรณปฏิสังขรณ์ และการสร้างวัดใหม่ รัชกาลที่ 4 วิทยาการดาราศาสตร์ โดยการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงและการฟื้นฟูกระบวนพยุหยาตราสถลมารค รัชกาลที่ 5 การพัฒนาบ้านเมือง และการสร้างพระที่นั่งภายในพระราชวังดุสิต รัชกาลที่ 6 การก่อตั้งลูกเสือไทย และการสถาปนาโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย รัชกาลที่ 7 การพระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง รัชกาลที่ 8 การเสด็จสถานีเกษตรหลวงบางเขน เสด็จเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง รัชกาลที่ 9 ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การแสดงสุดยอดศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่ มหกรรมภาพยนตร์ย้อนยุค ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของกรุงเทพมหานคร บนรถโรงหนัง มหกรรมโขน รำวงและลีลาศย้อนยุค โดยวงสุนทราภรณ์ ครั้งใหญ่ และการแสดงพื้นบ้านสี่ภาค
จึงขอเชิญชวนเข้าร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 233 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2558 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 22.00 น. สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th