คณะพาณิชย์ จุฬาฯ ชูจุดขายมาตรฐานรับรองคุณภาพการศึกษาจาก AACSB และ EFMD

พุธ ๒๒ เมษายน ๒๐๑๕ ๑๔:๑๖
คณะพาณิชย์ จุฬาฯ ชูจุดขายมาตรฐานรับรองคุณภาพการศึกษาจาก AACSB และ EFMD หวังดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำโลกร่วมผนึกกำลังเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อแข่งขันในตลาดเอเชียแปซิฟิก

คณะพาณิชย์ จุฬาฯ งัดกลยุทธ์ 3I สร้างแบรนด์ มุ่งสู่การเป็น บิสซิเนส สคูล ชั้นแนวหน้าในตลาดเอเชียแปซิฟิก หลังบรรดามหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งฝั่งยุโรป และอเมริกาจ้องบุกเอเชียตามเทรนด์ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก คณบดีแจงมาตรฐานรับรองคุณภาพการศึกษาจาก AACSB และ EFMD คือ จุดขายที่จะดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำโลกร่วมพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง

รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าการที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนทิศมายังเอเชีย ทำให้เอเชียไม่เพียงเป็นจุดสำคัญในภาคธุรกิจ แต่ยังทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำโลกทางฟากฝั่งอเมริกา และยุโรป เตรียมรุกคืบเข้ามาในเอเชีย ด้วยการเล็งหามหาวิทยาลัยเกรดดี มาเป็นพันธมิตร ซึ่งตรามาตรฐานรับรองคุณภาพการศึกษาที่ทางคณะฯ ได้รับจาก AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) และ EFMD (The European Foundation for Management Development) สององค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลกถือเป็นจุดขายที่จะดึงดูดมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา และยุโรปเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ระดับคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงส่งผลในด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสากล แต่ยังหมายถึงการเข้าไป มีบทบาทชี้นำเศรษฐกิจโลกผ่านการเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ

“แนวโน้มสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ หรือ Business School คล้ายกับธุรกิจที่ต้องขยายตลาด เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป อเมริกา จะบุกเข้ามาในแถบเอเชีย หลังทิศทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง โดยพุ่งเป้าที่ตลาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย เพราะมีประชากรจำนวนมาก ตลาดรองลงมา คือ ตลาดที่ พูดภาษาอังกฤษได้ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแม้กระทั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ถือเป็นตลาดรอง เพราะมีเป้าหมายอยากศึกษาพวกบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง โตชิบา ส่วนของไทยเองจะอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา วิธีการ คือ เขาจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศนั้นๆ ฉะนั้นต่อไปเด็กจบปริญญาตรี ถ้าอยากเรียนมหาวิทยาลัยฝั่งอเมริกาก็จะไปเรียนที่สิงคโปร์ อยากเรียนมหาวิทยาลัยของทางยุโรป ก็จะไปเรียนที่เมืองจีน สุดท้ายแล้วจะทำให้เราถูกปิดทางสู่ตลาดสากล” รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ กล่าว

ทั้งนี้ แม้จุฬาลงกรณ์ จะเป็นมหาวิทยาลัยของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะพาณิชย์ จุฬาฯ ต้องตื่นตัวในการพัฒนา เพื่อให้ เท่าทันกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการสร้างแบรนด์คณะพาณิชย์ จุฬาฯ หรือ CBS (Chulalongkorn Business School) ให้คงความขลังในการเป็น Business School ที่เก่าแก่ครบ 77 ปีของไทย ผนวกกับการเป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ๆ สู่ภาคการศึกษาด้านธุรกิจ และภาคเศรษฐกิจ โดยแนวทางการสร้างแบรนด์ CBS จะเริ่มจากการกำหนดแบรนด์ดีเอ็นเอขึ้นมาด้วยการใช้กลยุทธ์ 3I คือ Innovation การเป็นสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอต่อภาคสังคมเศรษฐกิจอยู่เสมอ Internationalization มีความเป็นสากลทั้งบรรยากาศ และหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเตรียมพร้อมนิสิตนักศึกษาในการเป็นบุคลากรระดับคุณภาพสากล และ Impact ที่ส่งผลสู่ภาคธุรกิจ

“เพื่อให้คณะฯ มีศักยภาพการแข่งขันเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายประเทศเปิดเสรีการแข่งขันทางด้านการศึกษา โดยที่รัฐบาลในต่างประเทศให้ทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยของตนอย่างเต็มที่ แต่สำหรับสถาบันการศึกษาของไทยแล้ว กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่ากับมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แต่ละแห่งต้องหาทรัพยากร เพื่อพัฒนาสถาบันตนเองด้วยแนวทางต่างๆ กันออกไป คณะเองก็ได้พัฒนาหลักสูตรทั้งในด้านการบริการวิชาการ และหลักสูตรระดับปริญญาโทที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ เช่น วิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering) ซึ่งดำเนินการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินต่างๆ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรประกันภัย เพื่อตอบสนองธุรกิจที่กำลังเติบโต และต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถรองรับ การมีทรัพยากรในการพัฒนาคณะที่แข็งแกร่ง หมายถึง ศักยภาพในการพัฒนาอาจารย์ บุคลากร และหลักสูตรต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการชี้นำภาคธุรกิจ และสามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง อันจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับคณะพาณิชย์ จุฬาฯ หรือ CBS พร้อมก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นบิสซิเนส สคูล ชั้นนำในเอเชียแปซิฟิกที่ทั่วโลกตระหนักถึง” รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ