ตลอดช่วงระยะเวลาการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ในสหภาพเมียนม่าร์ ทั้ง 3 แหล่งในช่วงเดือนเมษายน ประกอบด้วย แหล่งก๊าซฯ ยาดานา และ แหล่งก๊าซฯ เยตากุน ระหว่างวันที่ 10-19 เมษายน 2558 ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ ขาดจากระบบรวม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ แหล่งก๊าซฯ ซอติก้า ระหว่างวันที่ 20-27 เมษายน 2558 ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ ขาดจากระบบรวม 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ปตท. ได้จัดหาเชื้อเพลิงสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าไว้ล่วงหน้า โดยมีปริมาณการใช้น้ำมันเตาสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 112 ล้านลิตร (จากปริมาณสำรอง 144 ล้านลิตร) และการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 13 ล้านลิตร (จากปริมาณสำรอง 100 ล้านลิตร) ส่งผลให้โรงไฟฟ้าทุกแห่งสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ แม้จะเป็นช่วงที่อากาศร้อนและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี ยังสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อผู้ใช้ก๊าซฯ ทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคขนส่ง
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ยังมีแหล่งก๊าซฯ อื่นที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ประจำปี คือแหล่งก๊าซฯ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย โดยจำเป็นต้องแบ่งการซ่อมบำรุงออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เป็นการทำงานเพื่อติดตั้งแท่นและอุปกรณ์เพิ่มความดันก๊าซฯ เพื่อรักษาความสามารถในการจ่ายก๊าซฯ ให้เป็นไปตามสัญญา โดยจะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ปี 2558 และช่วงที่ 2 เป็นการทำงานต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 โดยเป็นการเชื่อมต่อระบบต่างๆ กับแท่นผลิตหลัก สำหรับแผนการซ่อมบำรุงครั้งนี้ ปตท. ได้เตรียมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ภาครัฐ และผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดเช่นเดิม และคาดว่าผู้ผลิตจะสามารถดำเนินการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ได้ตามแผนที่วางไว้ ในส่วนของสถานีบริการเอ็นจีวีได้มีการเตรียมแผนจัดหาเอ็นจีวีเพื่อทดแทนในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งจะมีการติดดามสถานการณ์ประจำวันเพื่อบริหารพลังงานทุกประเภทอย่างดีที่สุด
“ปตท. ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้ใช้พลังงานทุกท่านที่มีความเข้าใจ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐ ทำให้ตลอดระยะเวลาการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ที่ผ่านมา ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ปตท. จะพยายามพัฒนาศักยภาพ รวมถึงรักษามาตรฐานการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป” นายชาครีย์ กล่าวเสริมในตอนท้าย