รายงานธุรกิจระหว่างประเทศของแกรนท์ ธอนตัน เปิดเผยว่าร้อยละ 43 ของผู้นำธรุกิจได้พิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับโอกาสในการควบรวมกิจการอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และร้อยละ 39 ก็มีการพิจารณาไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 33 ของธุรกิจกำลังวางแผนที่จะเติบโตผ่านการควบรวมกิจการในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยแสดงให้เห็นการเติบโตอย่างมั่นคงจากร้อยละ 31 ในปี 2556 และร้อยละ 28 ในปี 2555 ผู้นำธุรกิจในภูมิภาคอเมริกาเหนือยังคงมั่นใจและมีความหวังในอนาคตมากที่สุดในการวางแผนที่จะเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ (ร้อยละ 45) ซึ่งนำภูมิภาคอเมริกากลาง (ร้อยละ 38) ตามด้วยทวีปยุโรป (ร้อยละ 32) ภูมิภาคอาเซียน (ร้อยละ 28) และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ร้อยละ 22)
สำหรับประเทศไทย ผู้นำธุรกิจได้วางแผนที่จะเติบโตด้วยการควบรวมกิจการในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยมีจำนวนถึงร้อยละ 16 เพิ่มขึ้นสองเท่าจากผลสำรวจในปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอย่างสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 32 มาเลเซียที่ร้อยละ 38 และอินโดนีเซียที่ร้อยละ 28 (เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 จากปีก่อน) ซึ่งแม้ว่าผลสำรวจของประเทศไทยนั้นจะยังคงน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาซียนอื่นๆ ที่เข้าร่วมสำรวจ แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดของไทยนับตั้งแต่เริ่มจัดทำการสำรวจนี้ขึ้นมา ในทางกลับกัน ร้อยละ 12 ของธุรกิจในไทยคาดหวังว่าจะมีการขายหรือเปลี่ยนแปลงเจ้าของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากร้อยละ 5 ในการสำรวจครั้งก่อน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในปีนี้อย่างสิงคโปร์ (ร้อยละ 13) มาเลเซีย (ร้อยละ 15) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 22) ก็ยังคงมีผลสำรวจที่สูงกว่าประเทศไทยเช่นเดิม
คุณจุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจการเงินของบริษัท แกรนท์ ธอนตันในประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ถึงแม้ตัวเลขของประเทศไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งชี้ว่าทุกคนได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตทางธุรกิจผ่านกลยุทธ์ M&A ที่สามารถช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจอย่างมากโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งหากเทียบกับบริษัทที่ขยายธุรกิจด้วยการเริ่มต้นหรือจัดตั้งธุรกิจใหม่เลย บริษัทที่ขยายด้วยวิธีกลยุทธ์ M&A จะใช้ช่วยประหยัดเวลาและสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้เร็วกว่า”
“โดยปกตินั้น การทำ M&A หรือควบรวมกิจการจะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ แบบแรกคือการควบกิจการในแนวนอน (Horizontal merger)1 โดยเป็นการรวมกิจการที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทที่ดำเนินงานในอาณาเขตเดียวกัน มักจะเป็นกรณีที่คู่แข่งเสนอสินค้าหรือบริการแบบเดียวกัน การควบกิจการในแนวนอนจะพบได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเพียงไม่กี่บริษัทเนื่องจากมักจะมีอัตราการแข่งขันสูง โดยการควบรวมดังกล่าวจะช่วยให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่การรวมกิจการในแนวตั้ง (Vertical merger) 2 จะเกิดขึ้นเมื่อมีบริษัทสองบริษัทหรือมากกว่าที่ดำเนินงานในขั้นตอนหรือลำดับที่ต่างกัน ในห่วงโซ่อุปทานหรืออุตสาหกรรมเดียวกันควบกิจการดำเนินงานเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการควบรวมเพื่อมุ่งส่งเสริมกิจการระหว่างกันและทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการควบรวมกิจการในแนวตั้งนี้ ก็ถือเป็นกิจกรรม M&A ที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทย”
คุณจุฬาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการสำรวจทั้งหมดทั่วโลกของเรา อุตสาหกรรมทางด้านเหมืองแร่มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะเติบโตด้วยการควบรวมกิจการ ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่เรามองว่าอุตสาหกรรมด้านการบริการจะเติบโตผ่านการควบรวมกิจการมากที่สุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของค่าเงินและความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องคำนึงถึง หากไม่พิจารณาอย่างเพียงพอแล้ว อาจกลายเป็นปัญหาในภายหลังและอาจทำให้การควบรวมกิจการนั้นล้มเหลว”
รายงานธุรกิจระหว่างประเทศของแกรนท์ ธอนตัน ยังระบุว่า ผู้นำธุรกิจต่างมุ่งไปที่ธนาคารในฐานะแหล่งระดมทุนเพื่อการเติบโต โดยร้อยละ 62 คาดหวังว่ากำไรสะสม (Retained earnings) จะเป็นแหล่งเงินทุนที่ใหญ่ที่สุด แต่สัดส่วนนักธุรกิจที่วางแผนจะใช้วิธีกู้ยืมจากธนาคารเพื่อจัดหาเงินทุนในการทำธุรกรรมได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 โดยสูงขึ้นจากร้อยละ 48 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งความเชื่อมั่นก็เพิ่มขึ้นในฐานะคู่ค้า โดยร้อยละ 14 ของผู้นำธุรกิจวางแผนที่จะขายกิจการใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 ในปี 2556 และร้อยละ 8 ในปี 2555
คุณจุฬาภรณ์ กล่าวต่อว่า “ผลสำรวจ IBR อาจยืนยันได้ว่าตลาดของการควบรวมกิจการได้ฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการเติบโตหรือขยายกิจการ (Dynamic businesses) ซึ่งต่างยอมรับว่ากลยุทธ์ M&A ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตอบโจทย์มากที่สุด แม้จะมีความท้าทายและความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่การเติบโตของกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วในหลายภูมิภาคต่างยังคงแข็งแกร่งอยู่ ขณะที่ตัวชี้วัดที่สำคัญอื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย การจ้างงาน และความพร้อมของเงินทุนนั้นก็มีภาพรวมในเชิงบวก”
“ในอดีต ตลาดธุรกรรมนี้มีลักษณะเป็นวัฎจักร แต่จากการสำรวจของเรา เราอาจจะอยู่ในจุดที่วัตถุประสงค์และการประเมินมูลค่าของผู้ซื้อและผู้ขายนั้นสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ อุปทานของเป้าหมายที่มีนั้นถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับตลาดการควบรวมกิจการที่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ความมั่นใจของคู่ค้าในการบรรลุผลสำเร็จในการออกจากธุรกิจนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยขับเคลื่อนด้วยผลการดำเนินงานทางการเงินที่ไม่ได้ดีมากนัก อีกทั้งความกังวลด้านการประเมินมูลค่า และมีมุมมองว่าธุรกรรมมีความเสี่ยง เช่น การระดมทุนจากผู้ซื้อ”
“นอกจากนี้เรายังพบความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในลักษณะของการระดมทุนโดยธนาคารที่ให้บริการรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อเป็นแหล่งระดมทุนหลักที่เข้าถึงได้มากกว่ารวมทั้งการมีทางเลือกอื่นในการกู้ยืมด้วย” คุณจุฬาภรณ์ สรุป