นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2557/2558 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยเข้าหีบไปแล้ว 148 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวมประมาณ 105.54 ล้านตัน โดยในช่วงนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูการหีบ และคาดว่าทุกโรงงานจะปิดหีบในต้นเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หากดูถึงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลแล้ว กลับพบว่าผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 106.49 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่ยิลด์อยู่ที่ 109.02 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เนื่องจากอ้อยที่ส่งเข้าหีบของปีนี้ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพอ้อยไม่ดีนัก ค่าความหวานเฉลี่ยที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีความหวานอ้อยอยู่ที่ 12.56 ซี.ซี.เอส และถึงแม้ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในปีนี้จะสูงขึ้นกว่า แต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ผลิตได้ 11.33 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ตั้งคณะทำงานด้านพัฒนาคุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับคุณภาพอ้อย และประสิทธิภาพของโรงงาน ซึ่งถือเป็นวาระที่สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดัน ดังนั้น คณะกรรมการบริหารของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงมีการจัด Workshop เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในการผลิตของโรงงาน โดยเชิญ Dr.Rod Steindl ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Sugar Consulting International ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย ที่ถือเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิต ได้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงมาก หรือเฉลี่ยประมาณ 130 กิโลกรัมต่อตันอ้อย มาให้ข้อมูลพร้อมข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายโรงงานในการปรับปรุงคุณภาพอ้อยก่อนเข้าหีบ และเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวม ทั้งในด้านการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกให้ดียิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทรายให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการหีบอ้อยมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยให้มากขึ้น ซึ่งเราต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นด้านประสิทธิภาพการผลิตให้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่แนวทางลดการปนเปื้อนของผลผลิตก่อนเข้าหีบ การออกแบบและปรับปรุงเครื่องจักรหีบอ้อยให้ดีขึ้น โดยเชื่อว่า การอบรมครั้งนี้จะช่วยทำให้โรงงานน้ำตาลนำความรู้ที่ได้นำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพน้ำตาลของแต่ละโรงให้ดียิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาวต่อไป” นายสิริวุทธิ์ กล่าว