นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีรายได้จากการขาย 109,276 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคาแนฟทาและราคาน้ำมันที่ลดลง มีกำไรสำหรับงวด 11,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ แม้ว่าจะมีขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ จำนวน 930 ล้านบาท ประกอบกับในไตรมาสนี้มีกำไรจากการขายเงินลงทุนส่วนที่เหลือทั้งหมดร้อยละ 10 ในบริษัทสยามมิชลินกรุ๊ป จำกัด โดยรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนดังกล่าวสุทธิภาษี จำนวน 1,485 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจของเอสซีจีในอาเซียน นอกเหนือจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 เอสซีจีมีรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและจากการส่งออกไปยังอาเซียน 24,122 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสินทรัพย์รวมในอาเซียน นอกเหนือจากประเทศไทย ณวันที่ 31 มีนาคม 2558 มูลค่า 88,960 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 19 ของสินทรัพย์รวมของบริษัทสินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 มีมูลค่า 475,039 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 แยกตามรายธุรกิจดังนี้
เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีรายได้จากการขาย 47,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยตามฤดูกาล และลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการของตลาดภายในประเทศที่ลดลง มีกำไรสำหรับงวด 3,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เอสซีจี เคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีรายได้จากการขาย 47,956 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง มีกำไรสำหรับงวด 4,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 99 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และส่วนต่างราคาสินค้ากับวัตถุดิบที่ดีขึ้นจากปีก่อน แม้ว่าจะมีผลขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือที่ 930 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ก็ยังมีกำไรเพิ่มขึ้น
เอสซีจี เปเปอร์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีรายได้จากการขาย 17,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสายธุรกิจเยื่อและกระดาษและสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ มีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 878 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดลดลงร้อยละ 30 เนื่องจากมาร์จิ้นลดลง และปีก่อนมีรายได้จากรายการพิเศษ ประกอบกับมีค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นจากเครื่องจักรใหม่ (PM16) และค่าใช้จ่ายทางการเงินในไตรมาสนี้เพิ่มสูงขึ้น
นายกานต์ กล่าวว่า “เอสซีจียังคงดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ผู้นำอย่างยั่งยืนในอาเซียน ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผน และเดินหน้าส่งออกให้กับตลาดอาเซียนเพื่อรองรับการเติบโตในภูมิภาค ด้วยความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนยังคงเติบโตและขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ซึ่งสอดรับกับโครงการลงทุนของเอสซีจีที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออกไปยังอาเซียน 13,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าราคาสินค้าเคมีภัณฑ์จะปรับตัวลดลง”
สำหรับตลาดปูนซีเมนต์และสินค้าวัสดุก่อสร้างในประเทศ แม้ตลาดจะอ่อนตัวลงในไตรมาสที่ 1 แต่เชื่อว่าในไตรมาส
ที่ 2 จะปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนของภาครัฐที่คืบหน้ามากขึ้น และน่าจะเห็นผลชัดเจนในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์อยู่ในช่วงขาขึ้น และมีแนวโน้มจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ด้านธุรกิจกระดาษคาดการณ์การส่งออกในอาเซียนดีขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้ากระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนเติบโตต่อเนื่อง
ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการลงทุนในสายการผลิตที่ 2 ของ Vina Kraft Paper Company Limited (VKPC) ในประเทศเวียดนามประมาณ 4,125 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์อีก 243,000 ตันต่อปี ส่งผลให้เอสซีจีคงความเป็นผู้นำอย่างยั่งยืนในธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในอาเซียน รวม 2.6 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ VKPC เป็นกิจการร่วมทุนในสัดส่วน 70 ต่อ 30 ระหว่างบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ในเอสซีจี เปเปอร์ และ Rengo Company Limited (ประเทศญี่ปุ่น)
นอกจากนี้ เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 เอสซีจีมียอดขายสินค้า
HVA 41,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 38 ของยอดขายรวม สำหรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ตราสินค้า SCG eco value ได้มีการปรับมาตรฐานเพื่อยกระดับการคัดกรองให้เข้มข้นมากขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มียอดขาย 29,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขายรวม (คิดเป็นร้อยละ 39 หากใช้มาตรฐานเดิม) ทั้งนี้ ในปี 2558 เอสซีจีมีงบประมาณงานวิจัยและพัฒนา 4,800 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค
เอสซีจีตอกย้ำความเป็นผู้นำในฐานะองค์กรนวัตกรรม โดยขยายความร่วมมือกับสถาบันการวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การต่อสัญญาความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านโครงการร่วมวิจัยที่ดำเนินการมาแล้วเกือบ 10 ปี โดยสนับสนุนห้องทดลอง เครื่องมือวิเคราะห์ และอุปกรณ์วิจัยขั้นสูง ตลอดจนเพิ่มงบประมาณวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานและทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับพัฒนาธุรกิจ นอกจากนี้ ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พัฒนาศูนย์ Center of Excellence โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการงานด้านวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน เสริมศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งในด้านบุคลากรและเครื่องมือเพื่องานวิจัย รวมทั้งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนานวัตกรรมซีเมนต์ขั้นสูงบนเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ3 มิติ (3D Printing Technology) โดยจะมีการจัดแสดงชิ้นงานครั้งแรกในโลกในงานสถาปนิก’58 ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 ที่ บูธเอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี