สศอ.ชี้แนวทางลงทุนในอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น ขยายฐานการผลิตแฟชั่นไปต่างแดน

จันทร์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๐๙:๔๕
สศอ. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมแฟชั่นใช้แรงงานเข้มข้นในฐานการผลิตต่างแดน เริ่มจากจัดตั้ง one-stop service ปรับปรุงระบบคมนาคม โลจิสติกส์ และสนับสนุนเงินกู้ ชี้ย้ายหรือขยายฐานผลิตไปยังกัมพูชา และ สปป. ลาว เหมาะกับผู้ประกอบการ SMEs มากกว่ารายใหญ่ เพราะแรงงานมีจำกัด แนะตั้งโรงงานในจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งประกอบด้วย สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีและเครื่องประดับ กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการผลิต จากค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากประเทศคู่ค้าในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากตลาดสำคัญ โดยลูกค้าเรียกร้องให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่ ย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเกิดการปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นวิธีหนึ่งที่พยายามให้เกิดความเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิตด้วยโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตในแต่ละขั้นตอนการผลิตในประเทศ ให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยผลจากการศึกษาโครงการแสวงหาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) ระยะที่ 2 พบว่า การย้ายหรือขยายฐานการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพื้นที่

โดย สศอ. พบว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีโอกาสที่จะย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากมีความพร้อมด้านเงินทุน และมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า ส่วนขั้นตอนการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ขั้นตอนการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ใช้แรงงานจำนวนมาก มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรในระดับที่ไม่สูงนัก เช่น ขั้นตอนการตัด เย็บ และประกอบเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะขั้นตอนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและไม่ใช่สินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อยืด เสื้อโปโล และชุดเครื่องแบบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจสำหรับเป็นพื้นที่เป้าหมายในการย้ายหรือขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงงานเข้มข้นของไทยไม่แพ้เวียดนาม และเมียนมาร์ แต่ทั้งกัมพูชา และ สปป. ลาว ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ กำลังแรงงานที่จำกัด ดังนั้น ในกรณีนี้กัมพูชา และ สปป. ลาว จึงเหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่

ในส่วนปัจจัยเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมในการย้ายหรือขยายฐานการผลิต พบว่าควรพิจารณาจากปัจจัยหลักคือ แรงงาน ทั้งค่าจ้างแรงงานและกำลังแรงงาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันอื่น ๆ เช่น สิทธิ GSP ที่ได้รับจาก EU ต้นทุนและประสิทธิภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งและการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานในไทย กฎระเบียบและสิทธิพิเศษด้านการลงทุน ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางการเมืองและธุรกิจ นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ในกัมพูชา และ สปป. ลาว พบว่าผู้ประกอบการควรพิจารณาตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) ที่ตั้งขึ้นในเขตเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งด้านการขออนุญาตลงทุน การจดทะเบียนบริษัท พิธีการศุลกากร ตลอดจนการหาแรงงาน

ดังนั้น จังหวัดที่เหมาะสมในกัมพูชา คือ จังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีกำลังแรงงาน และมีโครงข่ายคมนาคมหลักเชื่อมต่อกับไทยได้สะดวก ได้แก่ พนมเปญ บันเตียเมียนเจย (ติดกับจังหวัดสระแก้ว) และเกาะกง (ติดกับจังหวัดตราด) โดยในพื้นที่ดังกล่าว มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ Phnom Penh SEZ (อยู่ในจังหวัดกันดารซึ่งติดกับพนมเปญ) Poipet O’Neang SEZ (บันเตียเมียนเจย) Sisophon Industrial Park (บันเตียเมียนเจย) และ NeangKokKoh Kong SEZ (เกาะกง) ส่วนจังหวัดที่เหมาะสมใน สปป. ลาว คือ จังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีกำลังแรงงาน และมีโครงข่ายคมนาคมหลักที่เชื่อมต่อกับไทยได้สะดวก ได้แก่ เวียงจันทน์ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ Vientiane Industrial and Trade Area (VITA Park) ซึ่งยังเปิดการลงทุนจากผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตาม เวียงจันทน์ยังคงประสบปัญหาแรงงานตึงตัวและอัตราการลาออกสูง แต่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่าพื้นที่อื่นโดยเปรียบเทียบ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกล่าวย้ำว่า ในฐานะหน่วยงานชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ของไทยในต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการย้ายหรือขยายฐานการผลิตนั้นว่า ควรพิจารณาผลักดันให้เกิดการดำเนินการใน 4 รูปแบบ คือ

1) จัดตั้งหน่วยงานบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) ที่ให้ข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในต่างประเทศ

2) ผลักดันให้มีการดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค เช่น ปรับปรุงและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งภายในประเทศและโครงข่ายที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

3) ส่งเสริมให้ชาวไทยเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งเน้นให้เกิดทัศนคติที่เป็นมิตรและเคารพซึ่งกันและกัน

4) สนับสนุนเงินกู้ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งประสบปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

อย่างไรก็ดี ในส่วนผู้ประกอบการที่ไม่สามารถย้ายหรือขยายฐานการผลิต ก็ควรจะมีการปรับตัวเพื่อยกระดับสู่ขั้นการผลิตที่สูงขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น จากผู้รับจ้างประกอบ เป็นผู้รับจ้างผลิต เป็นผู้รับจ้างออกแบบ และเป็นเจ้าของตราสินค้า เป็นต้น การเชื่อมโยงธุรกิจระหว่าง SMEs ด้วยกัน และระหว่าง SMEs กับบริษัทขนาดใหญ่ การอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะเชิงเทคนิค การจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และการวิจัยตลาด สนับสนุนด้านการตลาดและการสร้างเครือข่าย การพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่ SMEs รวมทั้งการรับรองมาตรฐานอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version