ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า โครงการท้าทายไทย เกิดขึ้นจากแนวคิดในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย โดยกำหนดโครงการที่มีความท้าทาย มีการบริหารจัดการชุดโครงการที่ดี และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก การท้าทายให้วงการวิจัยไทยแก้ไขปัญหาหรือตั้งโจทย์ที่สำคัญ จะส่งผลให้นักวิจัยเกิดความต้องการจะแก้ไขปัญหาที่ยากต่อการแก้ปัญหาเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยลำพัง
“สังคมไทยมีภัยคุกคามที่เป็นวิกฤตมากมายจนเกิดเป็นคำถาม เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเราพร้อมรับมือหรือไม่ ผู้สูงอายุจะดูแลตนเองต้องทำอะไร หรือสมุนไพรไทย ซึ่งมีสรรพคุณมากมายจะผลักดันสู่การเป็นยาใหม่ได้อย่างไร รวมทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อพรมแดนเปิดกว้างเราพร้อมหรือยัง เป็นต้น ดังนั้น โครงการท้าทายไทย คือ การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ที่มาปิดกั้นการพัฒนาของประเทศ โดยลักษณะของโครงการฯ จะมุ่งใน 3 ด้านหลักๆ คือ...
1.ตั้งโจทย์ที่เป็นปัญหาสำคัญ มีอุปสรรค ฉะนั้นเราจะต้องมองเป้าของปัญหาให้ชัดเพื่อวางแนวทางแก้ไข เช่น การร่วมกำหนดหัวข้อเพื่อสร้างงานวิจัยที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา 2.ผนึกเครือข่ายประชาคมวิจัย ในการทำงานให้ได้ เป็นการท้าทายให้เกิดงานวิจัยแบบบูรณาการสหสาขาวิชา ซึ่งจะมาเป็นกลไกการขับเคลื่อนสำคัญ 3.ผลงานไม่ได้ออกมาเพียงรูปแบบของงานวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ต้องมีแรงผลักที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ศ.ดร.ยงยุทธ บอกว่า เรามีต้นแบบอย่าง อเมริกา แคนนาดา แอฟริกาใต้ ที่บุกเบิกรูปแบบโครงการลักษณะนี้ไว้แล้ว การที่ประเทศไทยเดินหน้าโครงการดังกล่าว ถือเป็นผู้นำร่องในภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่าย คอบช. ได้จัดการประชุมระดมสมอง “โครงการท้าทายไทย” โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงและมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 120 คน ร่วมระดมสมอง “แนวคิดโจทย์และเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในโครงการฯ มีการเสนอโจทย์วิจัยในเบื้องต้น และได้วิเคราะห์ กลั่นกรองระดับหนึ่งแล้วสามารถจำแนกเป็นด้านต่างๆ
เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เสนอในด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น คนไทยสุขภาพดีจากโภชนาการและชีวิตที่ดี การป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากพยาธิใบไม้ตับ การตรวจกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งที่สำคัญตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก การพัฒนาการแพทย์เชิงระบบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีด้านอาหารและการเกษตร เช่น การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารไทยในเวทีโลก อาหารเพื่อสุขภาพ การปรับตัวของการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานชีวภาพ การแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนืออย่างยั่งยืน การสร้างมูลค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านคุณภาพชีวิต เช่น การพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรก การรองรับสังคมผู้สูงอายุ และด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การสร้างรายได้จากนวัตกรรม การเสริมสร้างธรรมาภิบาล และแก้ปัญหาคอรัปชั่นในการบริหารราชการตามระบบคุณธรรม การพัฒนาบทบาทเศรษฐกิจไทยในประชาคมอาเซียน การพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหัวข้อต่างๆ เป็นเพียงโครงร่างที่รอการพิจารณาอีกครั้ง สำหรับโครงการท้าทายไทย มีกำหนดที่จะเริ่มดีเดย์ปีงบประมาณ 2559 ในวงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท