นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือแผน PDP 2015 ซึ่งได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในทุกภูมิภาค และได้มีเวทีหลักไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงพลังงานพร้อมจะนำทุกความคิดเห็นมาปรับปรุงแผน ฯ อย่างรอบด้าน คู่ไปกับแนวคิดสำคัญของแผน PDP 2015 นี้ที่จะมุ่งสร้างความสมดุลย์สูงสุด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.) มิติด้านความมั่นคง สร้างความสมดุลย์ด้วยการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีการปรับลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบันต้องพึ่งพาสูงถึงร้อยละ 64 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 45 – 50 ในปีช่วงกลางแผน ปี 2569 และในปลายแผนจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 – 40 ในปี 2579 โดยจะเพิ่มในส่วนของ พลังงานหมุนเวียน ถ่านหินสะอาด และการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน เป็นต้น
2.) มิติด้านสิ่งแวดล้อม แผน PDP 2015 นี้ จะรักษาความสมดุลย์โดยเร่งการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อน โดยภายใต้แผนฯ จะให้การปลดปล่อยคาร์บอนฯ ลดลงจาก 0.506 กิโลกรัมคาร์บอนต่อหน่วย เหลือ 0.319 กิโลกรัมคาร์บอนต่อหน่วย หรือจะมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลดลงร้อยละ 37 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มที่ และ3.) มิติด้านการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ จากการรักษาสมดุลย์ค่าไฟฟ้า ที่จะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตลอดช่วงของแผน PDP 2015
นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า จากกรณีภายใต้แผน PDP 2015 ที่จะมีสัดส่วนของสำรองไฟฟ้าในระบบที่จะเพิ่มสูงสุดเฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 - 39 ในช่วงปี 2567 และจากนั้นจะทยอยลดลงเฉลี่ยเหลือร้อยละ 15 ตามแผนฯ นั้น เป็นผลมาจากสาเหตุหลัก ๆ คือ จากผลของการประมาณการณ์ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ที่ลดลงเฉลี่ยจาก 4.41 % เหลือ 3.94% และผลของการประหยัดพลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานที่เพิ่มขึ้นจาก 20 % เป็น 100 % ตามแผนฯ ซึ่งกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า สัดส่วนของการคำนวนสำรองไฟฟ้าในระบบมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าตามแผนฯ น้อยมาก และอัตราค่าไฟฟ้าตามแผนฯ จะอยู่ที่ประมาณ 4.587 บาทต่อหน่วยในช่วงปลายแผนฯ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 1.89% ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัจจัยของสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว แต่ปัจจัยหลักคือราคาค่าเชื้อเพลิงในอนาคต
“กระทรวงพลังงานขอให้ความมั่นใจได้ว่า แผน PDP 2015 ครั้งนี้ จะพยายามบริหารจัดการภายใต้การดำเนินการตามสัญญาของโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพัน การพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับ AEC รวมถึงรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ และการพัฒนาระบบโครงข่าย Smart Grid เพื่อให้การบริการจัดการไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป ซึ่งท้ายสุดผลประโยชน์หลักจะตกอยู่กับประเทศชาติและประชาชนคนไทยทุกคน ให้มีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนและในราคาที่เป็นธรรมสูงสุด” นายทวารัฐกล่าว