เกาะติดผลกระทบเศรษฐกิจการเกษตร กรณีขอความร่วมมือลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง

พุธ ๑๓ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๒๙
ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (มก.) พร้อมด้วยดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยร่วมกันว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะนำความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตรที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าปริมาณน้ำฝนสะสมปี 2557 ต่ำกว่าค่าปกติอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2556ประกอบกับกรมชลประทานได้สรุปสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางปี 2557 น้อยกว่าปี 2556 ถึง 5,310 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปัญหาดังกล่าว จึงนำมาสู่มาตรการ“งดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง เนื่องจากพบว่าน้ำต้นทุนในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่เพียงพอสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาปรังที่ใช้น้ำจำนวนมาก และเพื่อเป็นการลดความเสียหายที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้มีมาตรการในการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2557/2558 โดยมีการวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังในปี 2557/58 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาลุ่มน้ำแม่กลองที่จำนวน 2.03 และ 0.04 ล้านไร่ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จากการเพาะปลูกข้าวนาปรังจริงในปีการเพาะปลูก 2557/58 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง มีจำนวน 6.20 และ 0.14 ล้านไร่ ตามลำดับ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร,2558)

ในเรื่องดังกล่าว หลังจากรัฐบาลได้ประกาศแผนการเพาะปลูกในปี 2557/58 และงดส่งน้ำเพื่อใช้ในการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจึงมีมาตรการช่วยเหลือ2 มาตรการ ดังนี้

มาตรการหลักของโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี2557/2558

ซึ่งเป็นการจ้างแรงงานโดยมีเป้าหมาย 44,388 รายแยกเป็น1) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป้าหมาย 35,337 ราย และ 2) ลุ่มน้ำ แม่กลอง เป้าหมาย 9,051 ราย และในส่วนของ มาตรการเสริม จะประกอบด้วยกิจกรรมฝึกอาชีพกิจกรรมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วกิจกรรมการส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์กิจกรรมการส่งเสริมอาชีพด้านประมง กิจกรรมการฝึกอาชีพ ด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ(กศน.) และกิจกรรมการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด

ผลกระทบมหภาคจากการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง

จากแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังในประเทศไทย ปีการเพาะปลูก 2556/57 กำหนดเป้าหมายการเพาะปลูกข้าวนาปรังจำนวน 10.82 ล้านไร่ แต่พบว่ามีการปลูกข้าวนาปรังทั้งสิ้น 15.92 ล้านไร่ ซึ่งได้รับผลผลิตจำนวน 9.55 ล้านตัน โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนตามนโยบายรับจำนำข้าวทั้งหมด 143,280 ล้านบาท และในปีการเพาะปลูก 2557/58 รัฐบาลได้จำกัดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เหลือ 6 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิตที่จะได้ประมาณ 3.6 ล้านตัน ทั้งนี้ หากมีนโยบายรับจำนำข้าว รัฐจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 54,000 ล้านบาท ผลจากการลดพื้นที่การปลูกดังกล่าวทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณดังกล่าวได้ จำนวน 89,280 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาเฉพาะเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ในปีการเพาะปลูก 2557/58 พบว่า เกษตรกรทำนาปรังทั้งสิ้น 6.34 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผนที่วางไว้ 2.07 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตส่วนเกินจากแผนที่ตั้งไว้จำนวน 3.8 ล้านตัน ทั้งนี้หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายรับจำนวนข้าวจะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มจำนวน 57,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การที่เกษตรกรยังคงปลูกข้าวนาปรังในปีการเพาะปลูก 2557/58 ทั้งที่รัฐประกาศมาตรการงดการส่งน้ำส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลผลิตเพียงร้อยละ 37.13 เทียบกับผลผลิตในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียจากการลงทุนของเกษตรกรเป็นเม็ดเงินจำนวน 22,625.9 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบจากกรณีขอความร่วมมือลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้วิเคราะห์ผ่านแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยพบว่า รายได้เฉลี่ยจากการทำนาปรังลดลงครัวเรือนละ 70,268 บาท จะทำให้รายได้จากการทำนาปรังของครัวเรือนเกษตรทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองลดลงรวม 27,462 ล้านบาท และจะทำให้การบริโภคของครัวเรือนเกษตรลดลง 25,631 ล้านบาท (ภายใต้ข้อสมมติความโน้มเอียงในการใช้จ่ายหน่วยสุดท้าย (Marginal propensity to spend)= 0.9333 จากการลงพื้นที่ภาคสนาม) ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ลดลงเป็นมูลค่าโดยรวม 58,539 ล้านบาท แต่หากเกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในโครงการ 1 ตำบล 1 ล้านบาท จำนวน 3,052 ล้านบาท การจ้างงานในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จำนวน 399.5 ล้านบาท และการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชที่แจก จำนวน 222.5 ล้านบาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 3,674 ล้านบาท จะทำให้รายได้จากการทำนาปรังสุทธิลดลง 23,788 ล้านบาท และการบริโภคของครัวเรือนลดลงเท่ากับ 22,202 ล้านบาท และจะส่งผลให้ GDP ลดลง 50,707 ล้านบาท

ผลกระทบจากการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่มีต่อครัวเรือนเกษตรกร

ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนภาพในสถานการณ์จริงในระดับครัวเรือน ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการสำรวจภาคสนามในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง โดยทำการสัมภาษณ์เกษตรกร จำนวน 281 ราย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี และนครปฐม โดยเก็บข้อมูลเกษตรกรจำนวน 43, 62, 130 และ 46 ราย ตามลำดับ

ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรทั้ง 4 จังหวัด มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 8,725 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นาปรัง 7,644 ไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87.61 ของพื้นที่เพาะปลูก ส่วนใหญ่เกษตรกรที่สัมภาษณ์มีที่ดินเป็นของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 37.7 ของเกษตรกรที่สัมภาษณ์ ส่วนเกษตรกรที่เช่าที่ดิน มีค่าเช่าที่ดินเฉลี่ยไร่ละ 618 บาท

จากกรณีขอความร่วมมือลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรร้อยละ 69 งดการปลูกนาปรังทั้งหมด โดยร้อยละ 8 งดทำนาปรังบางส่วน และร้อยละ 23 ยังคงทำนาปรังในปริมาณเท่าเดิม โดยเกษตรกรที่งดทำนาปรังทั้งหมดให้เหตุผลว่าปริมาณน้ำในการเพาะปลูกไม่เพียงพอ อันจะก่อให้เกิดผลเสียจากการปลูกนาปรัง ในขณะที่เกษตรกรที่ยังคงทำนาปรังคาดการณ์ว่าจะได้รับน้ำจากชลประทานและพึ่งพาน้ำฝน

ในด้านความช่วยเหลือของภาครัฐ พบว่า มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 23.13 ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น การสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช ร้อยละ 38.46 ด้านโครงการ 1 ล้านบาท 1 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 36.92 การจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 12.31 และอื่น ๆ (ด้านปศุสัตว์ แหล่งน้ำ ฝึกอาชีพ) คิดเป็นร้อยละ 12.31 อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ทำการศึกษา พบว่า การขาดแคลนน้ำทำให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ควรจัดสรรความช่วยเหลือควรครอบคลุมกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงต้นทุนที่สูญเสียไปจากการปลูกข้าวนาปรังในช่วงภัยแล้งรวมทั้งการสร้างอาชีพนอกภาคการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนมีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version