นายเสวียน ศิริแก้ว หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ผู้ดูแลสามเณรนักเรียน ได้ย้ำถึงแนวคิดของโรงเรียนที่จะส่งเสริมให้สามเณรนักเรียนได้เรียนรู้จากลงมือทำเองผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยมีครูเป็นที่ปรึกษา “เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ทางโรงเรียนมองเห็นปัญหาว่าเยาวชนมีสิ่งเร้าจากภายนอกเข้ามาเยอะมากเช่นสื่อต่างๆ ที่รุมเร้า จึงคิดจะหาวิธีสร้างภูมิต้านทานให้กับสามเณรนักเรียน ประกอบกับช่วงนั้นทางโรงเรียนมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุนให้จัดโครงการเยอะมาก ทางพระปลัดคงศิลป์ ภทฺทราวุโธ ผู้อำนวยการโรงเรียน จึงคิดว่าควรใช้การทำโครงการเป็นตัวช่วยในการบ่มเพาะภายในใจของสามเณร และเป็นโครงการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนด้วย ทั้งสามโครงการที่เข้าร่วมกับทางมูลนิธิสยามกัมมาจลนั้น ซึ่งเป็นโครงการที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนในชุมชนและสามเณรหลังจากลาสิกขาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำนา จะได้มีความรู้ในการทำนาสามารถไปประกอบอาชีพและรู้คุณค่าของข้าว เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว ส่วนเรื่องการทำเทศน์ ก็ฝึกให้สามเณรเป็นเด็กที่มีสมาธิ เนื้อหาการเทศน์สอดแทรกเรื่องการให้ สามเณรได้ฝึกจากเป็นผู้รับอย่างเดียวจะได้กลายเป็นผู้ให้ด้วย จะซึมซับเข้าไปในตัวแบบไม่รู้ตัว และเรื่องการทำต้องตุงก็เป็นการฝึกความใจเย็น มีสมาธิ และเสริมทักษะด้านศิลปะด้วย สามเณรนั้นไม่ใช่เข้าโครงการแค่ปีเดียวแต่จะร่วมตั้งแต่ม.1 – ม.6 และมีการสอนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องด้วย โรงเรียนมีความคิดต่อยอดทั้งสามโครงการนี้ ที่จะทำให้เป็นหลักสูตรบูรณาการเข้าไปอยู่ในวิชาเรียนด้วย เพราะเห็นประโยชน์ว่าการฝึกนิสัยเด็กผ่านโครงการเหล่านี้นั้นได้ผลทำให้สามเณรของโรงเรียนนี้ได้รับการเชื่อถือจากชุมชน จากการประพฤติปฏิบัติตัวทั้งยังบวชอยู่และลาสิกขาไปแล้ว”
โครงการค่ายฝึกยอดนักเทศน์มหาชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการได้แก่สามเณรฤทธิพงค์ ปายสาร สามเณรสุวิทย์ ศรีน้ำเที่ยง สามเณรอนุวัตร แซ่ลี สามเณรสรวิชญ์ ขัติยศ และสามเณรอนุกุล สิทธิ เนื่องจากการเทศน์มหาชาติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร คือชาติสุดท้ายก่อนที่จะเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า และในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่จะเข้าวัดเพื่อจะไปฟังเทศน์มหาชาติในวันลอยกระทงของไทย เป็นศาสนพิธีท้องถิ่น จึงอยากจะสืบสานประเพณีเทศน์มหาชาติไม่ให้สูญหายไป เป็นการอนุรักษ์การเทศน์มหาชาตินี้ไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของล้านนาสืบต่อไป และในช่วงที่มีการจัดงานเทศน์มหาชาตินั้น จะมีการสอดแทรกประเพณี เก่าแก่ต่างๆ เช่น พิธีสวดเบิก ตีกลองสะปัดชัย ตีกลองปูจา ฟ้อนล่องน่าน และในบางคัมภีร์ของการเทศน์มหาชาติก็มีภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้มีการฝึกภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง)ได้ด้วย
สามเณรฤทธิพงค์ ปายสาร ได้สะท้อนการเรียนรู้ว่า “ได้ฝึกฝนการเทศน์ทำนองแบบพื้นเมืองน่าน ซึ่งยากมาก ทำให้รู้ประวัติพระเวสสันดรอย่างลึกซึ้งขึ้น ตอนเรียนมาก็รู้แบบเผินๆ ทำให้ซาบซึ้งกับเนื้อหาได้นำมาปรับใช้กับตัวเองว่า เช่นการให้ทานตรงนี้เรามีไหม เรามาทำแบบนี้ได้ไหม ได้ซึมซับเรื่องความใจบุญ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น การเทศน์ทำให้เราสงบ มีสมาธิ อย่างเมื่อก่อนอารมณ์ร้อนก็ปรับให้เย็นขึ้น และทำให้โยมพ่อ โยมแม่เกิดความปลื้มปิติที่เห็นเราเทศน์ได้ด้วย บอกว่าอยากให้เผยแพร่ความรู้ต่อไปเรื่อยๆ ส่วนญาติพี่น้องก็ภูมิใจไปเทศน์ที่ไหนก็ตามไปฟังให้กำลังใจ”
โครงการปลูกข้าวนาอินทรีย์ ผู้รับผิดชอบโครงการได้แก่ สามเณรธีรพงษ์ ตาลาว สามเณรชาคร สมจารย์ สามเณรพลพล ธัญญาผล สามเณรจักรพันธ์ สุภรักษ์ และสามเณรคณิศร ปุกคาม เกิดจากความพยายามของคณะครูในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการให้กันสามเณรนักเรียน จากประสบการณ์และปฏิบัติจริงในสถานภาพเป็นสามเณร อันจะเป็นการปลูกคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับทั้งยังปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดขึ้นในการเรียนรู้จากพื้นที่จริง นอกเหนือจากการเรียนการสอนของครูในห้องเรียน ได้สอนให้รู้ว่าข้าวเป็นอาหารหลักของมนุษย์และได้อธิบายในหลักการสำคัญและประโยชน์ของข้าวให้กันสามเณรนักเรียนได้เข้าใจได้เห็นคุณค่าของข้าว
สามเณรจักรพันธ์ สุภรักษ์ ได้สะท้อนการเรียนรู้ “ได้การวางแผนในการทำงาน ได้ประสบการณ์ในการปลูกข้าวเพราะได้ปฏิบัติจริงสามารถนำไปเป็นอาชีพได้ ได้ความรู้เรื่องข้าวอินทรีย์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เกิดประโยชน์กับตัวเอง ทำให้รู้คุณค่าของข้าวมากขึ้นว่ากว่าจะเป็นข้าวต้องเหนื่อยและยากลำบาก เมื่อก่อนฉันข้าวก็เหลือบ้างแต่ตอนนี้ฉันให้หมดไม่ทิ้ง พ่อแม่ก็ดีใจเพราะเมื่อก่อนตอนเป็นฆราวาสไม่ค่อยได้ช่วยงานที่บ้านแต่พอเห็นมาทำนาก็สนับสนุนว่าดี และการทำนาได้ญาติโยมจากบ้านหนองบัวมาช่วยสอน รู้สึกดีที่ลุงๆ เขาเสียสละเวลามา และผลทำให้เกิดการเปรียบเทียบให้ญาติโยมเห็นว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์กับใช้ปุ๋ยเคมีได้ผลแตกต่างกันอย่างไร อะไรที่ปลอดภัยกว่า ทำให้ชุมชนได้เกิดการเปรียบเทียบและได้คิดแต่เขาจะเปลี่ยนมาปลูกข้าวแบบเราหรือเปล่าก็แล้วแต่เขา”
โครงการต้องตุงพันชั้น (ตุงปันชั้น) ผู้รับผิดชอบโครงการได้แก่สามเณรนิธิกร ศรีนวล สามเณรอิทธิชัย เดชฤทธิ์ สามเณรติณภพ สกุลคำ สามเณรสุริยะ สมเงิน และสามเณรวชิรวิทย์ กองโกย เริ่มจากสามเณรได้ไปสืบค้นภูมิปัญญาชาวล้านนาและพบว่ามีการทำต้องตุงพันชั้นที่เริ่มสูญหายไปจากชุมชน ทางโรงเรียนจึงเห็นความสำคัญนำมาจัดทำเป็นโครงการและเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาสอน นอกจากอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านแล้วยังเป็นการพัฒนาทักษะด้านศิลปะแก่สามเณรให้มีความรู้ความสามารถทางด้านงานช่างฝีมือสามารถนำไปใช้ในการเรียนต่อหรือการประกอบอาชีพได้ต่อไป
สามเณรนิธิกร ศรีนวล ได้สะท้อนการเรียนรู้ “ได้เรียนรู้ประวัติของการทำต้องตุง รู้เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราไว้ ได้ทักษะด้านงานฝีมือ มีความรู้ติดตัว ทำให้มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น เรียนดีขึ้น เมื่อก่อนไม่ค่อยนิ่งเท่าไร ความยากของการทำต้องตุงคือถ้าทำพลาดไปนิดหนึ่งจะเสียเลยต้องทำใหม่จึงทำให้ตั้งใจทำมากๆ คิดว่าน่าจะนำไปเป็นอาชีพได้ เกิดประโยชน์ให้กับชาวบ้านเพราะต้องตุงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้าน เป็นสิ่งสิริมงคลที่นำไปบูชาที่บ้านด้วย อยากให้ต้องตุงไม่สูญหาย อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์กันเอาไว้”
นี่คือภาพของเยาวชนในอีกสถานะหนึ่งที่ไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้พร้อมเป็นActive Citizen ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมให้อยู่คู่กับชุมชน เมืองน่านไปอีกนานภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้วัดโป่งคำ สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)