ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ SVI ที่ ‘BBB+(tha)’; นำอันดับเครดิตออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

พุธ ๑๓ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๓๒
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ของ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ที่ ‘BBB+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ และนำอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและระยะสั้นดังกล่าวออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การนำอันดับเครดิตของ SVI ออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เนื่องจากฟิทช์มองว่าความเสี่ยงจากการสูญเสียลูกค้ารายใหญ่หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ได้ลดลง และ SVI น่าจะสามารถรักษาสถานะทางธุรกิจ และฐานะการเงินของบริษัทให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ลูกค้ายังคงชื่อมั่นใน SVI: ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVI ยังคงไว้วางใจในบริษัท โดยยังคงสัญญาซื้อสินค้าจากบริษัท ทั้งนี้เนื่องจากชื่อเสียงและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทกับลูกค้าที่มีมายาวนาน นอกจากนี้ฟิทช์มองว่าการที่บริษัทสามารถกลับมาเริ่มการผลิตอย่างรวดเร็วหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อบริษัท โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 กำลังการผลิตของบริษัทได้กลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 70%-80% ของกำลังการผลิตในช่วงก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เท่ากับช่วงก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ภายในปี 2558 และยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

สถานะการเงินที่แข็งแกร่ง: เงินสดที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและเงินประกันจากความเสียหายที่คาดว่าจะได้รับในปี 2558 น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อฐานะการเงินของ SVI จากรายได้ที่ลดลง เงินลงทุนที่สูงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในปี 2558 บริษัทมีเงินสดจำนวน 3.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับเงินลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนในปี 2558 SVI น่าจะสามารถรักษาสถานะเงินสดสุทธิ (เงินสดมากกว่าหนี้สิน) ในช่วงสองปีข้างหน้าได้ ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานของบริษัทจะเป็นลบ โดย ณ สิ้นปี 2557 บริษัทไม่มีหนี้สิน

โอกาสเติบโตในธุรกิจ EMS: SVI ยังคงได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของตลาดรับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภท non-traditional ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนแนวโน้มที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Original Equipment Manufacturer) จะว่าจ้างผู้รับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ผลิตแทนเพิ่มขึ้น โดยบริษัทเน้นการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับบนประเภท non-traditional ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีความผันผวนจากความต้องการที่ต่ำกว่า และมีอัตราส่วนกำไรจากการผลิตที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจและผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสภาวะอุตสาหกรรมจะมีความท้าทาย

ขนาดและการกระจุกตัวของรายได้: ปัจจัยเสี่ยงของ SVI ประกอบด้วยการที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจรับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภท non-traditional และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ SVI ยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ในรูปสกุลเงินบาทลดลง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกลดทอนบางส่วนจากการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ฟิทช์คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในระดับปานกลางในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สมมุติฐานที่สำคัญ

- รายได้ในปี 2558 ปรับตัวลดลงเนื่องจากกำลังผลิตไม่เพียงพอ ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2559 เป็นต้นไป

- ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทต้องซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า หลังจากบริษัทได้รับความเสียหายจากไฟไหม้

- การลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อซื้อเครื่องจักรทดแทนในส่วนที่เสียหายจากไฟไหม้

- ได้รับเงินประกันจากไฟไหม้ในปี 2558

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ:

- หนี้สินสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการจ่ายเงินปันผลที่สูง การลงทุนที่สูงกว่าที่คาดไว้ หรือการเข้าซื้อกิจการอื่นโดยใช้เงินทุนจากการกู้ยืมที่สูง (Debt Funded Acquisition) ซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage สูงกว่า 1.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 6% อย่างต่อเนื่อง (ปี 2556 บริษัทมี EBITDAR margin อยู่ที่ 9.6%)

- สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ

ปัจจัยบวก:

บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วน FFO-Adjusted Net Leverage ให้อยู่ต่ำกว่า 1.0 เท่า และอัตราส่วน FFO-Adjusted Leverage ให้อยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง และสามารถ

- เพิ่มขนาดธุรกิจ โดยมีรายได้สูงกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปี 2557 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 259 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดการกระจุกตัวของลูกค้า และเพิ่มการกระจายตัวของกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคอื่นๆ หรือ

- เพิ่ม EBITDAR Margin ให้อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 10 อย่างต่อเนื่อง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ เขตบึงกุ่มแจงประเด็นร้องเรียน - สร้างความเข้าใจการสั่งรื้ออาคารต่อเติมปากซอยนวมินทร์ 24
๑๖:๑๓ MOTHER เปิดฉากเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์โรดโชว์ออนไลน์ 22 ม.ค.68
๑๖:๐๑ M STUDIO ขึ้นแท่นสตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยอันดับ 1
๑๖:๐๐ จับตา จัดเก็บภาษีความเค็มขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
๑๕:๐๐ จุฬาฯ ร่วมกับ PMCU ชวนน้องๆนิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ส่งผลงานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ประกวดภายใต้แนวคิด Chula For
๑๕:๐๐ กลุ่มสมอทอง เข้าร่วมโครงการ Kick off การขับเคลื่อนปาล์มน้ำมัน
๑๕:๐๐ สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
๑๕:๒๐ ลีเอนจาง คลินิก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในวงการความงาม คว้ารางวัล Silver Shine ประเดิมศักราชใหม่! ในงาน Nebula Nova: The New Star of
๑๔:๑๗ กลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่งน้ำตาลแบรนด์ ษฎา สร้างสีสันงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2568 พร้อมเปิดตัวน้ำตาลกรวดธรรมชาติ
๑๔:๔๓ อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ