สมาคมแพทย์ผิวหนังฯเตือนภัยระวังภัย ซื้อเครื่องสำอางผ่านอินเตอร์เน็ต

พุธ ๑๓ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๔:๓๔
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ แนะแนวทางการเลือกซื้อ”เครื่องสำอาง” หลังจากมีผู้บริโภคหลายรายหลังสั่งซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้หน้าพัง มีอาการปวดแสบ ปวดร้อน อาการคันเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ มีขุย มีผื่นแดงบวม

ผศ.พญ. สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีกระแสผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คเกี่ยวกับกรณีมีผู้บริโภคได้สั่งซื้อเครื่องสำอางผ่านทางอินเตอร์เน็ต และเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงนั้น ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ มีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญเรื่องความสวยงาม ความดูดี ดูสวย โดยคำว่า “เครื่องสำอาง” นั้นหมายถึงวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่ายกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม ซึ่งเมื่อนำมาใช้แล้ว หากมีอาการแพ้เครื่องสำอาง จะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อน อาการคัน หรือรู้สึกว่าคันยิบๆ มีผื่นคัน จนกระทั่งแพ้มาก เป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ มีขุย มีผื่นแดงบวมเหมือนลมพิษ บางคนมีผื่นดำหมองคล้ำ หน้าเริ่มด่าง มีเม็ดผดเล็ก ๆ ไม่คันหรือเหมือนเป็นสิว โดยทั่วไปแล้ว อาการแพ้จะไม่เกิดทันทีหลังจากที่เปลี่ยนเครื่องสำอาง แต่มักจะค่อย ๆ เป็นจนไม่ทันสังเกตว่าจะแพ้ เพราะกว่าจะเป็นเครื่องสำอางมาขายต้องผ่านการทดสอบหรือทดลองใช้มาบ้างแล้ว โดยเครื่องสำอางที่ถือว่ามีอัตราทำให้เกิดผลข้างเคียงสูง ได้แก่ น้ำยายืดผม ครีมทำให้ผิวขาว ครีมรักษาฝ้า น้ำยาหรือครีมขจัดขน ส่วนที่มีอัตราทำให้เกิดผลข้างเคียงปานกลาง ได้แก่ น้ำยาดัดผม น้ำยาย้อมผม ครีมบำรุงผม มาสก์หน้า โฟมอาบน้ำ ครีมแก้สิว ลิปสติก ครีมรองพื้น น้ำยาทำความสะอาดอวัยวะเพศ ยากันแดด ยาระงับกลิ่นกายและยาลดเหงื่อ

ผศ.พญ. สุวิรากร กล่าวว่า อาการผิดปกติจากการใช้เครื่องสำอางอาจเกิดได้ 2 แบบ คือ แพ้แบบการระคายเคืองในทางการแพทย์ใช้เรียกว่า Irritant contact dermatitis : พบได้ 80-90% และมักเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ อาการนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อผิวสัมผัสกับสารหรือสภาวะที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น สภาวะความเป็นกรด/ด่างมากเกินไป ร้อน/เย็นเกินไป ใช้สารเคมีหรือเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวแห้ง มีส่วนผสมสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายเป็นปริมาณมากหรือใช้ติดต่อ กันเป็นเวลานาน อาการแสดงของการระคายเคือง เช่น มีผื่น แดง และถ้ารุนแรงก็เป็นตุ่มน้ำได้ โดยอาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นบนบริเวณที่ทาเท่านั้น จะไม่ลามไปส่วนอื่น ๆ ส่วนการแพ้อีกแบบ คือการแพ้จริงๆสารทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อย ได้แก่ น้ำหอม ที่ช่วยให้เครื่องสำอางมีกลิ่นน่าใช้ และกลบกลิ่นสารเคมี สารกันบูด เช่น พาราเบน ฟอร์มัลดีไฮด์ สารที่อยู่ในยาย้อมผม ได้แก่ สารพาราเฟนนีลีนไดเอมีน สารลาโนลินหรือไขแกะที่เป็นตัวทำเนื้อครีมหรือโลชั่น สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้แล้ว จะแก้ไขทำอย่างไร ในขั้นแรกเลยคือต้องหยุดใช้เครื่องสำอางต้องสงสัยนั้นทันที หากมีเครื่องสำอางต้องสงสัยหลายตัว ให้หยุดใช้ตัวที่นำมาใช้ใหม่แล้วเกิดอาการก่อน ถ้าหยุดใช้แล้วอาการดีขึ้นก็อาจแสดงว่าเครื่องสำอางตัวนั้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แพ้ หากมีอาการแพ้มาก มีผิวหน้าอักเสบอยู่ให้หยุดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด อนุญาตให้ใช้ลิปสติก (ถ้าไม่มีผื่นที่ปาก) เครื่องสำอางแต่งดวงตา (ถ้าไม่มีผื่นรอบดวงตา) แป้งเด็ก เมื่ออาการผิวหนังอักเสบหายแล้วค่อยลองใช้ทีละตัว เป็นอย่างๆไป ถ้าเกิดผื่นขึ้น ให้ลองหยุดตัวที่ใช้สุดท้าย ถ้าอาการหายไป ก็น่าจะเกิดอาการแพ้เครื่องสำอางนั้น ๆ วิธีที่จะพิสูจน์ง่าย ๆ ว่าเครื่องสำอางชนิดนั้นเป็นสาเหตุที่เกิดจากการแพ้จริงหรือไม่ ให้ทำการทดสอบโดยทาเครื่องสำอางที่สงสัยบริเวณท้องแขน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากมีผื่นขึ้นก็แสดงว่าแพ้จริงและให้หยุดการใช้เครื่องสำอางนั้น ๆ หากทดสอบด้วยตัวเองแล้ว ยังไม่สามารถหาสาเหตุของอาการแพ้ได้ เช่น แพ้น้ำหอม แพ้สารกันบูด

ด้าน ดร. นพ. เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายแพทย์และจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในส่วนของเครื่องสำอางที่ขายทางอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ มักจะมีสารที่ผิดกฏหมายเจือปนอยู่ อาทิ สารจำพวกไฮโดรควิโนน สารสเตอรอยด์ สารปรอท ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้หน้าขาวใสอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งแล้วหน้าจะบางลง เส้นเลือดขยาย แพ้ง่าย หยุดใช้ไม่ได้ เกิดการติด และบางครั้งทำให้เกิดด่างขาวถาวรได้ ปัจจุบันมีเครื่องสำอางที่ขายทางอินเตอร์เน็ต สั่งผลิต และขึ้นทะเบียนถูกต้อง แต่พอขายจริงก็ส่งตัวที่มีสารผิดกฎหมายเพื่อจะได้เห็นผลเร็วๆ เมื่อทางองค์การอาหารและยาไปจับก็ปฎิเสธว่าไม่ใช่ของตัวเอง มีคนมาาปลอมใช้ชื่อเหมือนกันบ้าง ซึ่งเป็นการค้าที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างยิ่ง

ในส่วนเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น ในปัจจุบันกองควบคุมเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกกฏหมายควบคุมการผลิตเครื่องสำอางให้เครื่องสำอางทุกชนิดต้องขึ้นทะเบียน แสดงส่วนประกอบ โรงงานผลิต ผู้จัดจำหน่าย วันที่ผลิต หรือวันหมดอายุ เพื่อว่าถ้าเกิดอาการแพ้แล้ว การทราบได้ว่าสาเหตุการแพ้เกิดจากสารอะไรจะได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามในท้องตลาดมีเครื่องสำอางที่ไม่ได้อยู่ในข่ายนี้มากมาย เช่น เครื่องสำอางที่ขายตามตลาดนัด หรือขายตามสถานเสริมความงาม บนอินเตอร์เน็ต อาจไม่มีฉลากบนตลับ หรือ อาจบอกแค่ว่าเป็นสมุนไพรหรือสารธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งใช้แล้วหน้าขาวใสอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใช้ไปแล้วอาจทำให้ผิวมีปัญหา อาทิ หน้าดำ หน้าแพ้ง่าย มีผดผื่นขึ้นเพราะมีส่วนผสมของสารปรอทซึ่งเป็นโลหะหนักที่มีฤทธิ์ทำลายเม็ดสี หากใช้ไปนานๆ ก็จะทำให้ผู้ใช้มีสีผิวหน้ากระดำกระด่างได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ