แรงบันดาลใจจาก “ตุง” สู่งานศิลป์ “เชิดชูพลเมืองดี”

ศุกร์ ๑๕ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๐๕
“ตุง” เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อ ความศรัทธามาแต่ดั้งเดิมของชาวล้านนา ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องสักการบูชา หรือประกอบพิธีกรรม ทั้งงานมงคลและอวมงคล รวมทั้งใช้ตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ จึงส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดโครงการ “นิทรรศการศิลปะเชิดชูพลเมืองดี” ผลงานสร้างสรรค์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรสร ประเสริฐ อาจารย์สาขาวิชาศิลปะภาพพิมพ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นผลงานศิลปะกลางแจ้ง จัดแสดงบริเวณถนนธัญบุรี – วังน้อย (ข้างดูโฮม คลอง 7) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ เผยว่า หัวใจหลักของนิทรรศการคือ การนำเรื่องราวของพลเมืองดี ที่เสียสละช่วยเหลือผู้อื่น มาถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปกรรม เพื่อเป็นการยกย่องพลเมืองดี และให้ประชาชนรุ่นหลังได้ระลึกถึง พร้อมทั้งตระหนักถึงการทำความดีต่อสังคม โดยนำเรื่องราวของนาย ประมวน สุวรรณโรจน์ พนักงานขับรถพลเมืองดี ที่ขับรถบรรทุก 6 ล้อ แล้วหยุดจอดช่วยรถกระบะซึ่งจอดเสียข้างทาง บริเวณวงแหวนตะวันออกสายธัญบุรี ตัดวังน้อย ขณะผูกเชือกเตรียมลากจูงรถไปอู่ แล้วเกิดเหตุรถพ่วง 22 ล้อ หลับใน พุ่งเข้าชนท้าย จนเป็นเหตุให้นายประมวน ต้องเสียชีวิต จึงถูกยกย่องจากสื่อมวลชนและประชาชนให้เป็นพลเมืองดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่านิทรรศการนี้จะสะท้อนให้คนในสังคม ได้ตระหนักถึงคุณงามความดี เป็นตัวอย่างให้กับสังคมและคนในชาติ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวสุวรรณโรจน์อีกครั้งหนึ่ง

ในขณะที่ ผู้สร้างสรรค์นิทรรศการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรสร เล่าว่า การสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมในครั้งนี้ ได้นำแนวคิดประเพณี วัฒนธรรมของชาวล้านนาเกี่ยวกับตุงหรือธง ที่ใช้ในงานอวมงคล เช่น ตุงแดง ซึ่งเป็นตุงประเภทหนึ่งที่ใช้ปักอยู่ตามบริเวณเส้นทางต่าง ๆ เมื่อพบตุงแดงปักอยู่ แสดงว่าบริเวณนั้นได้มีการตายแบบไม่ธรรมดา หรือตายโหงเกิดขึ้น ซึ่งตามความเชื่อและพิธีกรรมที่ได้เล่าขานสืบทอดกันมา ถือว่าบริเวณนั้นอาถรรพณ์ ถ้าไม่ปักตุงแดง วิญญาณของผู้ตายจะไม่สามารถไปสู่สุขคติภพภูมิที่ดีได้ จนกว่าจะมีบุคคลอื่นมาตายตรงนั้นแทนที่

“จากความเชื่อดังกล่าวนี้ จึงนำมาสู่นิทรรศการศิลปะเชิดชูพลเมืองดี โดยใช้ตุงแดงจำนวน 35 ชิ้นงาน ตามอายุของพลเมืองดี ตุงแดงนี้มีความโดดเด่น สีสันตัดกับธรรมชาติตามองค์ประกอบศิลป์ ปักอยู่กระจายกันอยู่บริเวณที่พลเมืองดีผู้นี้ได้เสียชีวิต ซึ่งตุงแต่ละชิ้นงานมีขนาดความกว้าง 1.20 เมตร ยาว 4 เมตร และใช้เทคนิคการพิมพ์เพื่อให้เกิดลวดลาย ด้วยเทคนิคซิลค์สกรีน (Silk Screen) โดยเลือกเอารูปม้ามาพิมพ์ ตามปีนักษัตรของพลเมืองดีที่เกิดปีม้าลงไปในตุง และภายในบริเวณนิทรรศการ ยังตกแต่งด้วยปราสาทตั้งศพ ซึ่งนำมาจากภาคเหนือของไทย เพื่อให้ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ และเป็นการแสดงความเคารพแก่พลเมืองดีผู้นี้ ที่ได้เสียสละ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ย้ำเตือนถึงความไม่ประมาทในการใช้ชีวิตบนท้องถนน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรสร กล่าว

ด้าน นางสาวบุษกร สิ่งไธสง (แนน) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาศิลปะภาพพิมพ์ ตัวแทนนักศึกษาที่ร่วมโครงการ เผยว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ด้านศิลปะ ที่สร้างสรรค์ผ่านมุมมองด้านวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่เกี่ยวกับตุง จนนำมาสู่นิทรรศการ โดยการสร้างตุงจากพื้นผ้าสีแดงเข้ม เพิ่มความสวยงามและความหมายเกี่ยวกับพลเมืองดีลงไป เช่น การพิมพ์ภาพตามปีเกิดและจำนวนตุงตามอายุ ตนมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนสำคัญในนิทรรศการนี้ ซึ่งใช้ระยะเวลาเตรียมงานกว่า 1 เดือน จนเกิดเป็นนิทรรศการกลางแจ้งที่หลายคนให้ความสนใจ

ขณะที่ นายพิทย์ ภู่สละ (มอส) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาศิลปะภาพพิมพ์ ที่เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า ตนได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงพร้อมกับอาจารย์ไกรสร เช่น การร่างแบบ วัดระยะทางเพื่อจัดวาง ปักหมุด ตลอดจนติดตั้งตุงจนสำเร็จ โดยนำความรู้ในเรื่องศิลปะเกี่ยวกับองค์ประกอบการจัดวางมาใช้ ร่วมกับสิ่งแวดล้อมจริงในพื้นที่ และอยากวอนขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน มีสติ ไม่ประมาท และมีน้ำใจ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และขอยกย่องในคุณงามความดีของนายประมวลผู้นี้ด้วยใจจริง

อีกมุมหนึ่งของ นางกัลยา สุวรรณโรจน์ ผู้เป็นมารดาของนายประมวล เผยความรู้สึกทั้งน้ำตาว่า เสมือนฝันร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อนึกถึง เพราะลูกชายเป็นคนจิตใจดี เรียกใช้ง่าย เป็นที่รักของญาติพี่น้องผองเพื่อน ณ วันนี้ ก็เริ่มจะทำใจได้ แต่ความรู้สึกและห่วงหาระหว่างแม่กับลูกยังมีอยู่เสมอ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัย และท่านอาจารย์ไกรสร ที่เห็นคุณค่าในความดีของลูกชาย จนสามารถสร้างศิลปะขึ้นมาได้ แม้ความประมาทจากการหลับในของคนขับรถเทรลเลอร์ได้พรากชีวิตของลูกชายไปอย่างไม่หวนกลับ แต่คุณงามความดีของลูกชาย และเรื่องราวการยกย่องทางศิลปะนี้ ยังคงตราตรึงและอยู่ในใจของแม่และอีกหลาย ๆ คน ตลอดไป

นิทรรศการนี้จัดแสดงถึง 30 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน หลังจากนี้จะนำภาพนิทรรศการไปจัดแสดงอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ณ วังสวนผักกาด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 084 123 2557 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหว ที่ศิลปะได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการย้ำเตือนให้เห็นคุณค่า คุณงามความดี และเป็นตัวบ่งชี้ถึงความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต โดยศิลปินมืออาชีพอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรสร ประเสริฐ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ