นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) กล่าวถึงกรณีที่หุ้น MTLS ได้รับการเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Small Cap Indexes ซึ่งจะมีผลในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ว่า รู้สึกภูมิใจกับการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI และสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแค่ 6 เดือน ก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน กองทุน ทั้งในและต่างประเทศ และการถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี MSCI จะยิ่งทำให้นักลงทุนสถาบัน และกองทุน เพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้น MTLS เนื่องจากดัชนีดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้ประกอบการตัดสินใจการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน
“เรามั่นใจกับยุทธศาสตร์ขยายตัวทั่วไทยของเราเดินมาถูกทาง และได้มีการปรับแผน 3 ปีใหม่ (2558-2560) จากเดิมเตรียมเปิดสาขาใหม่ 1,000 สาขา เพิ่มเป็น 1,400 สาขา หรือเปิดสาขาใหม่เพิ่มเฉลี่ยปีละ 300 สาขา เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด รองรับความต้องการสินเชื่อของลูกค้าในระดับรากหญ้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน และมั่นใจว่าภายในปีนี้ ยอดปล่อยสินเชื่อรวมจะพุ่งแตะ 16,500 ล้านบาท ได้ตามเป้าอย่างแน่นอน”นายชูชาติกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/58 บริษัทได้เปิดสาขาใหม่เพิ่ม 180 สาขา ผลการดำเนินงาน มีกำไรสุทธิ 181.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% จากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากข้อมูลล่าสุดผู้ถือหุ้น MTLS เป็นกองทุนต่างชาติ 4,511,500 หุ้น กองทุนในประเทศ 69,177,300 หุ้น ส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI หรือ MSCI Indexes เป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ที่ถูกจัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้จัดการกองทุนที่มาลงทุนในไทยก็ใช้ดัชนี MSCI มาใช้ประเมินประสิทธิภาพการลงทุนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนี MSCI แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นดัชนีระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ การแบ่งตามอุตสาหกรรม ประเภทของตลาด หรือตามขนาดของหลักทรัพย์ จะไม่นำหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์เข้าไปคำนวณดัชนี แต่จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งจะมีเกณฑ์พิจารณาในหลายด้าน เช่น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม สภาพคล่องการซื้อขาย จำนวนหุ้นที่ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ เป็นต้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง รายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการปรับพอร์ตการลงทุนหรือเพิ่มการลงทุนให้สอดคล้องกัน