นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เปิดเผยว่า การจัดงานรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 23 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยในวันอาทิตย์ที่ 17พฤษภาคมนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. กระตุ้นให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของเหตุการณ์พฤษภา 2535 และ ตอกย้ำบทเรียนเพื่อให้สังคมหลีกเลี่ยงความรุนแรงนองเลือดจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2. ตอกย้ำและสืบทอดเจตนารมณ์ของวีรชนเดือนพฤษภาในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ หลักการประชาธิปไตยและผู้นำประเทศมาจากประชาชนและนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง 3. ส่งเสริมกิจกรรมในเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยที่เข้าร่วม 4. เสนอบทบาทที่ชัดเจนของมูลนิธิฯตามเจตนารมณ์ของวีรชนพฤษภาให้เป็นที่ประจักษ์
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในปีนี้ ทางมูลนิธิได้จัดงานในรูปแบบสหปาฐกถาโดยเชิญผู้มีบทบาทในเหตุการณ์รณรงค์ประชาธิปไตย ณ เวลานั้น เช่น เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีตกรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตยมาเป็นองค์ปาฐก และเสนองานวัฒนธรรม ศิลปดนตรี บทกวีเพื่อประธิปไตย ตลอดจนการวางหรีดรำลึกในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 13.00 น. ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (ตึกหลัง) และวางหรีดรำลึกวีรชนผู้สละ เวลา16.00 น. ณ. ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิได้รับการติดต่อจากนายทหาร คสช. ให้งดจัดกิจกรรมโดยเฉพะปาฐกถา และ ได้มีนายทหารพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเยี่ยมที่สำนักงานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทางนายทหารจาก คสช. ต้องการให้งดจัดกิจกรรมโดยอ้างว่าเหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบจึงไม่อยากให้จัดกิจกรรมสัมมนาทางการเมือง ทางมูลนิธิได้ให้ร่วมมือโดยงดจัดกิจกรรมปาฐกถา แต่ขอจัดกิจกรรมวางหรีดเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้สละชีวิตให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศนี้
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมปาฐกถาในครั้งก่อนช่วงปลายเดือนเมษายน ทางมูลนิธิได้ให้ความร่วมมือกับ นายทหารจาก คสช. ในการงดจัดกิจกรรมเปิดห้องประชุมนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายในของมูลนิธิเพื่อรำลึกถึงวีรชนที่สละชีวิตเพื่อหลักการประชาธิปไตยไปแล้วครั้งหนึ่ง การใช้ชื่อห้องประชุมเพื่อเป็นเกียรติแก่สามัญชนผู้เสียสละกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทาง คสช.ไม่ให้จัด มูลนิธิก็ได้ให้ร่วมมืองดจัดทันที ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยจึงขอความร่วมมือมาทาง คสช.บ้าง โดยอยากให้ คสช.ช่วยกำกับให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ไม่สืบทอดอำนาจ และคืนอำนาจให้ประชาชนโดยคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่ประกาศเอาไว้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางคสช. จะให้ความร่วมมือกับมูลนิธิเช่นเดียวกับ ที่มูลนิธิให้ความร่วมมือกับ คสช. เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติสุข
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวย้อนไปในอดีตว่า เหตุการณ์พฤษภาคมมหาโหด 2535 เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17- 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 อันนำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คนและบาดเจ็บจำนวนกว่า 600 คน รวมทั้งมีผู้สูญหายจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นายอนุสรณ์กล่าวว่า สังคมไทยโดยเฉพาะผู้อำนาจรัฐควรเรียนรู้จากบทเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงนองเลือดจากการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม เพราะหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ยังมีเหตุการณ์จากการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยครั้งรุนแรงที่สุด คือ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตถึง 98 คน ส่วนเหตุการณ์เดือนพฤษภาในปี พ.ศ.2535นั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย ดังมีรายนามดังต่อไปนี้
กฤษฎา เนียมมีศรี:ถูกตีและถูกกระสุนปืน
กิตติกรณ์ เขียวบริบูรณ์:ถูกกระสุน
กิตติพงษ์ สุปิงคลัด:ถูกกระสุน
เกรียงไกร จารุสาร:ถูกกระสุน
กอบกุล สินธุสิงห์:ถูกกระสุน
จักรพันธ์ อัมราช:ถูกกระสุน
จักราวุธ นามตะ:ถูกกระสุน
เฉลิมพล สังข์เอม:สมองบอบช้ำ
ชัยรัตน์ ณ นคร:ถูกกระสุน
ซี้ฮง แซ่เตีย:ถูกกระสุน
ณรงค์ ธงทอง:ถูกกระสุน
ทวี มวยดี:ถูกตีศีรษะ
ทวีศักดิ์ ปานะถึก:ถูกกระสุน
นคร สอนปัญญา:ถูกกระสุน
บุญมี แสงสุ่ม
บุญมี วงษ์สิงโต:ถูกกระสุน
บุญคง ทันนา:ถูกกระสุน
ปรัชญา ศรีสะอาด:ถูกกระสุน
ประสงค์ ทิพย์พิมล:ถูกกระสุน
ปรีดา เอี่ยมสำอางค์:ถูกกระสุน
พิพัฒน์ สุริยากุล:ถูกกระสุน
ภูวนาท วิศาลธรกุล:ถูกกระสุน
ภิรมย์ รามขาว:ถูกกระสุน
มะยูนัน ยีดัม:ถูกกระสุน
มนัส นนทศิริ:ถูกกระสุน
วีระ จิตติชานนท์:ถูกกระสุน
วงเดือน บัวจันทร์:ถูกกระสุน
วีรชัย อัศวพิทยานนท์:ถูกกระสุน
ศรากร แย้มประนิตย์:ถูกกระสุน
สมชาย สุธีรัตน์:ถูกกระสุน
สำรวม ตรีเข้ม:ถูกกระสุน
สาโรจน์ ยามินทร์:ถูกกระสุน
สมเพชร เจริญเนตร:ถูกกระสุน
สุชาต พาป้อ:ถูกกระสุน
สุรพันธ์ ชูช่วย
สมาน กลิ่นภู่:ถูกกระสุน
สัญญา เพ็งสา:ถูกกระสุน
หนู แก้วภมร:ถูกกระสุน
อภิวัฒน์ มาสขาว:ถูกกระสุน
เอกพจน์ จารุกิจไพศาล:ถูกกระสุน
เอียน นิวมีเก้น
ไม่ทราบชื่ออีก 3 ราย รวม 44 ราย?